8.02.2550

บทสัมภาษณ์ คมสัน นันทจิต คมคิดเขียนคุย

โดย…ขนิ-โต และกองกำลังปั้นฝันฯ
จุลสาร TK park เล่มที่ 14 เดือนสิงหาคม 2549
คอลัมน์ T-Talk






ในธนาคารชีวิตแต่ละคน ฝาก สั่งสมอะไรเอาไว้บ้าง ฝากเป็นประจำ ฝากบ้างบางอารมณ์ ดอกเบี้ยผลิดอกออกให้เห็นผลตามเหตุแห่งการฝาก ระยะเวลาและความเพียรในการเติมประสบการณ์ที่ชื่น ที่ชอบ ประกอบก่อร่างเป็นการได้ทำในสิ่งที่รัก หากลองเปิดสมุดบัญชีของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น 108 มงกุฎดู กว่าจะมาถึงหน้านี้ที่ทุก ๆ คนรู้จักกันดี หน้าเก่า ๆ ที่แล้ว ๆ มานั้นจะราบเรียบ ขรุขระ หรือโรยด้วยกลีบกล้วยไม้…


“ในชีวิตของผม ชอบทำอยู่สามอย่าง หนึ่งคือชอบอ่านหนังสือ สองคือชอบดูหนัง และสามคือชอบฟังเพลง”

book : อักษรพาเพลิน
คมสันมีแววอ่านฉายแสงมาตั้งแต่ยังไม่ได้ก้าวเข้าประตูโรงเรียน เห็นหนังสือพิมพ์วางอยู่ก็หยิบเอามาสะกดเป็นคำ เขาว่า “บ้านนี้รักการอ่าน”
“ผมว่าครอบครัวเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ที่จะปลูกฝังให้ผมรักการอ่าน พ่อกับอาจะมีหนังสืออยู่เยอะ อย่างอาเป็นหมออยู่ที่เชียงใหม่ พอถึงช่วงฤดูร้อนเขาก็จะลงมากรุงเทพฯ เอานิตยสารสตรีสารสำหรับเด็กขนมาให้อ่าน โห! สนุกมากเลย หรือเวลาที่ไปอยู่กับคุณย่าที่ภาคใต้ ที่นั่นก็จะมีตู้หนังสือ ผมก็จะอ่านการ์ตูน อ่านนู่นนี่ อ่านเยอะมาก อ่านทุกแนว ทุกอย่าง อ่านจนไม่กลัว ไม่เป็นเรื่องยาก ไม่ชอบเล่นกีฬา เพราะเล่นกีฬาไม่เก่ง ชีวิตส่วนใหญ่ก็จะอยู่แต่กับหนังสือตลอด”
“พอสมัยเรียนมัธยมก็ได้มาเข้าที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่นี่มีสิ่งที่ทำให้ตกใจอยู่สามอย่าง อย่างแรก คือสนามฟุตบอล ต่อมาก็โรงอาหาร และก็อย่างสุดท้ายก็คือห้องสมุด มีห้องสมุดที่ใหญ่และเก่าแก่ เพราะความที่เป็นโรงเรียนที่ตั้งมานานแล้ว หนังสือแต่ละเล่มก็จะเก่า หายาก นี่แหล่ะแหล่งความสุขของผมเลย ไม่ต้องไปไหนแล้ว ก็อยู่ห้องสมุดตลอด ชอบ”
“ผมอ่านหนังสือในห้องสมุดสวนกุหลาบฯ เยอะมาก มากจนน่าจะจำหนังสือทุกเล่มในห้องสมุดได้เลยล่ะ ผมอยู่ในห้องสมุดทุกวัน ไล่อ่านหมดทุกประเภท ผมไม่ชอบเล่นกีฬา เป็นคนตัวใหญ่แต่วิ่งช้า(หัวเราะ) เลยไม่ชอบเล่น อย่างเวลาเล่นกีฬาแข่งกันเป็นทีม ผมก็จะเป็นประเภทตัวแถม(หัวเราะกันอีกครั้ง) มักจะเป็นเศษให้เขาเลือก จะอยู่ฝ่ายไหนก็ได้”

Shy : เด็กขี้อาย กลายเป็นผู้ชายช่างพูด
ใครจะเชื่อบ้างว่าตอนเด็ก ๆ คมสันเป็นคนขี้อายมาก โดนเพื่อนแกล้งก็บ่อยครั้ง แล้วอาจารย์ก็มักจะเรียกให้ออกไปพูด ร้องเพลง ไปทำอะไรต่อมิอะไรหน้าห้องตลอด ความกลัวทำให้เขาจำต้องเอาชนะมันไปให้ได้ กว่าจะรู้ตัวเองว่าเป็นบุคคลผู้สร้างเสียงฮาก็ปาเข้าไปม.ปลายแล้ว หนึ่งในกิจกรรมที่เขาแสนจะภูมิใจสมัยเรียนอยู่สวนกุหลาบ “กิจกรรมแปรอักษร” ในการแข่งขันฟุตบอล
จตุรมิตรสามัคคี
“ตอนอยู่ ม.ต้นเห็นรุ่นพี่เขาที่ยืนพูดข้างล่างแสตนด์สั่งให้แปรเป็นรูปนู่นนี่ ก็เริ่มมาคิดว่า เออ… ก็ดีนะ เขาสามารถสั่งคนเป็นพัน ๆ ให้ทำนู่นนี่ได้ ทุกคนต้องฟังเขา พอมาอยู่ม.ปลาย ก็เริ่มเข้าชมรมเชียร์ ต่อมาก็ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานชุมนุม ได้ออกไปยืนสอนน้อง ๆ แปรอักษร เออ! เวลาเราพูดก็มีคนฟังนะ บอกให้ทำอะไรก็ทำตาม พอซักระยะเพื่อนก็ให้ไปแข่งขันโต้วาที ก็ไปพูดโต้วาทีแข่งกับเขา แต่ก็ยังตื่นเต้นอยู่นะ ไปทุกครั้งก็ตื่นเต้นทุกครั้ง ก็ยังกลัว ก็ยังอาย… แต่ก็ทำได้ เหมือนกับว่าต้องข้ามมันไป ถ้ามัวไปยืนเก้ ๆ กัง ๆ อึกอัก ๆ มันก็จะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ พอมาเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี่ก็เริ่มไปกันใหญ่ มีอะไรให้ทำเยอะมาก ทั้งละคร ทั้งเป็นพิธีกรคณะ ก็เหมือนกับได้ฝึกไปเรื่อย ๆ ชีวิตตอนนั้นมันสนุก สนุกมาก ๆ… แต่ก็ยังอายอยู่นะ ถึงทุกวันนี้เวลาทำงานก็ยังตื่นเต้น ยังสั่น ยังอายอยู่ ก็แปลกใจตัวเองเหมือนกันว่าทำไม?”

Change : แสงสว่างส่องชีวิต
จากที่เคยพูดกับตัวเองว่า “เรียนไปทำไม เพื่ออะไร” ไม่สนใจเรียน หันหน้าเข้าหาแต่กิจกรรม จนกระทั่งขึ้นปี 3 เมื่อเขาได้พบกับ อาจารย์เฉลิม สุจริต ในรายวิชา Construction Material เหมือนตัวเองได้พบแสงสว่าง
“วิชา Construction Material เรียนเกี่ยวกับวัสดุโครงสร้างต่าง ๆ ของอาคาร เช่น หิน ทราย ไม้ ว่าเป็นยังไง เป็นวิชาที่น่าเบื่อมาก โหย ! บรรพบุรุษวิศวะเลยล่ะ แรก ๆ จะไม่เข้าใจ เรียนไปทำไมเนี่ย ปี 1 ไม่ตั้งใจเรียน ปี 2 ก็ไม่เรียนอีก พอปี 3 ก็มาเจออาจารย์เฉลิม สุจริต อาจารย์จะเรียกนักเรียนว่ายู อ่ะ! ชี้ไปที่คนนี้ว่า “ยู อนาคต ยูจะได้ออกแบบรัฐสภา ยูจะได้ออกแบบวัดพระแก้ว เห็นไหมว่า Architect มันยิ่งใหญ่ขนาดไหน” ผมนี่ตกใจ มันมีแบบนี้ด้วยเหรอในโลกของอาจารย์ เหมือนในการ์ตูนเรื่อง GTO เฮ้ย... อะไรเนี่ย อาจารย์คนนี้ !”
“แล้วหลังจากนั้นอาจารย์ก็เริ่มพูดถึงความสำคัญของอาชีพนี้ อาชีพนี้มันสร้างอะไร แล้วอาจารย์ก็เล่าว่า Master ของ Architect ของโลกชื่อหลุยส์ ซัลลิแวน เขาเป็นอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่มาก ทำให้เกิด Modern architecture วันหนึ่งเมื่อเมืองชิคาโก้มันเละมากแล้ว ลูกศิษย์ก็มาเข้าไปหา แล้วถามว่าจะย้ายไปไหนกันดี ซัลลิแวนกลับตอบว่า “ Stay here ! and Do something good ” ก็เหมือนเราแหละ เราสามารถทำได้ แล้วก็มาเข้าเรื่องที่ว่า ทำไม Material ถึงสำคัญ อาจารย์บอกว่า “ ถ้าผู้รับเหมาเอาไม้เต็งมาหลอกว่าเป็นไม้รัง ยูก็ไม่รู้ โง่ ชิบ ” เออ ... ก็จริงนะ แล้วท่านก็จะชอบเล่า นิทาน ชอบเล่าเรื่องแล้วให้เราตีความตลอดเวลา มันทำให้พี่ได้รู้สึกเป็นครั้งแรกว่า เออ ที่เรากำลังทำอยู่เนี่ย เราทำไปเพื่อจุดมุ่งหมายอะไรกันแน่ คำถามนี้สำคัญมาก ๆ”
“แล้วก็มีเรื่องหนึ่งที่ได้ฟังแล้วรู้สึกโอ้โห ! โดนซะเต็ม ๆ ก็มีศาสตราจารย์มาจากอเมริกา จบปริญญาเอกด้านข้าว จะมาสอนที่มหาวิทยาลัย ลงมาจากเครื่องบิน แล้วมานั่งแท็กซี่ต่อ ให้แท็กซี่ขับพาไปทางรังสิต มองไปเห็นต้นข้าว เขาก็ถามแท็กซี่ว่า นี่ต้นอะไร ? ตลกมะ อ่ะ!ต้องอธิบายต่อ มันเหมือนว่าคุณเรียนจบด้านข้าวมา แต่ไม่รู้จักต้นนี้ต้นอะไร สถาปนิกก็เหมือนกัน ถ้าแยกไม่ออกว่าวัสดุที่ต่างกัน มันต่างกันยังไง มันก็แปลก แล้วอาจารย์ก็พูดประโยคสุดยอดว่า “ถ้าคุณไม่เรียน กอ ไก่ ขอ ไข่ คุณจะเขียนเป็นคำได้ยังไง อย่าว่าแต่เป็นประโยคเลย แล้วก็ไม่ต้องพูดถึงโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนเลยนะ ” ตั้งแต่นั้นมาพี่ก็ตั้งใจเรียนมาตลอดเลย แต่ว่าทุกวันนี้พี่ก็ยังแยกไม้เต็ง กับไม้รังไม่ออกนะ ( หัวเราะ ) อาศัยถามรุ่นพี่เอา แล้วก็เจออาจารย์ที่สุดยอด ๆ มาตลอด”

Entertainer : พิธีกร ผู้ออกแบบความขำ
“ตอนแรกก็แปลกใจนะ ที่เอาสิ่งที่เรียนมาช่วยได้มากเลย เพราะคณะที่เรียนจะฝึกให้นักศึกษาต้องอธิบายความคิด ฝึกกันตั้งแต่ปีสองปีสามเลย คือมันเป็นการฝึกให้เราได้อธิบายและเรียบเรียงความคิด ซึ่งพอผ่านตรงนั้นแล้วก็ต้องออกไปรายงานหน้าห้องอีกที ทั้งหมดมันเป็นการฝึกโดยที่เราไม่รู้ตัว โดนฝึกอย่างนี้มาตั้งห้าปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก และสิ่งเหล่านี้ก็มาช่วยสนับสนุนในงานพิธีกร เพราะงานพิธีกรคือการเอาความคิดคนอื่นออกมาอธิบาย โดยที่เขาเป็นคนพูด การแสดงก็เหมือนกัน เราก็ต้องไปเป็นตัวละครตัวนั้น”

Imagine : จินตนาการอันเจือจาง
คมสันจำเป็นต้องอ่านหนังสือทุกวัน ถ้าไม่ได้อ่านขณะนั่งรถ ก็ต้องอ่านก่อนนอน ในกระเป๋าของเขาจะต้องมีหนังสืออยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นแมกกาซีน การ์ตูน วันนี้ในกระเป๋าของเขามีการ์ตูนเรื่อง galaxy 999 เป็นการ์ตูนเก่าที่เอามาทำใหม่ คมสันช่วยเปิดต่อมการ์ตูนให้กว้างขึ้น ว่าจริง ๆ แล้วมีการ์ตูนหลายแบบ ทั้งการ์ตูนสำหรับเด็ก แล้วก็การ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ การ์ตูนญี่ปุ่นเขาทำมาสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย การ์ตูนจะพาเราไปสู่ในโลกที่คิดว่าไม่มีอยู่จริง สำหรับคนที่มีอายุเกิน 20 ปี หนึ่งในการ์ตูนที่ประทับในความทรงจำ จะต้องมีเรื่อง “โดราเอมอน” อยู่ด้วย
“ตอนเด็ก ๆ เปิดลิ้นชักดูพยายามจะหายานแบบในการ์ตูนโดราเอมอน ประมาณว่ามันจะต้องมีโดราเอมอนอยู่ในลิ้นชักแน่ ๆ... ยังนึกเลยนะถ้าเด็ก ๆ ได้ดูเรื่องแฮรี่พอตเตอร์นะ เราต้องขี่ไม้กวาด ต้องพูดคาถา ต้องไปชานชาลาเก้าเศษสามส่วนสี่นี้ให้ได้ ไม่รู้มีใครทำกันบ้างมั้ย แล้วก็ต้องคิดว่าถ้าขี่ไม้กวาดมันต้องบินได้...แต่มันก็บินไม่ได้ มันเศร้าตอนไหนรู้มั้ย พอเราโตขึ้น เราไม่เชื่ออย่างนั้นแล้ว เออ! ทำไมตอนโตเราไม่เชื่อแล้วว่าในลิ้นชักมันมีไทม์ แมชชีน เศร้านะ เราเสียความไร้เดียงสา โตแล้วมีเหตุผลมากขึ้น มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เหมือนเพลงพื้นที่เล็กๆ ของบอย ตรัยน่ะ(บอย-ตรัย ภูมิรัตน) ฮึ ฮึ ฮึ”

Rhythm : จังหวะของตัวหนังสือ
คมสันเริ่มเขียนหนังสืออย่างเป็นทางการลงในหนังสือ “ช่อการะเกด” เรื่องสั้นของเขาเป็นหนึ่งในบรรดาหลาย ๆ ช่อ
เมื่อเครื่องเริ่มร้อน เอาอะไรมาหยุดไม่อยู่ เขาถูกทาบทามเป็นหนึ่งในนักเขียน “รวมเรื่องสั้นชุดสนามหญ้า” ต่อจากนั้นคงไม่ต้องสาธยาย มีงานหลั่งไหลเข้ามาให้เขียนไม่ขาดมือ ทั้งเขียนเอง และแปลเอง ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของเขาจะรู้ดีว่า เรื่องที่คมสันเขียนช่างเศร้าหม่น ไม่ตลกเหมือนเวลาเจอบนหน้าจอทีวีเลย…
“พี่รู้สึกว่าระยะหลัง ๆ นี้ นักเขียนรุ่นใหม่ ๆ บางคน ละเลยมากเรื่องการส่งต้นฉบับ ก็จะมีคนส่งเรื่องสั้น
มาให้ผมอ่าน บางครั้งก็สะกดคำผิด ย่อหน้า เคาะวรรคไม่ตรงผมจะหงุดหงิดกับเรื่องพวกนี้ มันรู้สึกว่าไม่น่าอ่าน ตัวที่พิมพ์ออกมา มันก็เคาะบ้าง ย่อหน้าตรงไม่ตรงบ้าง
“เราเขียนหนังสือเองก็จะรู้ว่าขึ้นย่อหน้าใหม่ทำไม จังหวะมันจำเป็นมาก เวลาเราอ่านหนังสือมันจะมีจังหวะส่วนตัวของเราอยู่อันหนึ่ง ลองสังเกตดูนักเขียนที่เก่ง ๆ เขาจะควบคุมจังหวะการอ่านเราได้ แบบพวกระดับเทพ เขาจะทำให้เราอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วก็ต้องหยุด เดี๋ยวตรงนี้เขาจะปล่อยหมัด เราจะรู้สึกได้เลย เราจะรู้สึกในจังหวะ อือ ฮื้อ... มันมาอย่างนี้แล้วก็ปัง!!! ให้เรารู้สึกเลย”
“ผมจะเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง ผมเป็นคนซีเรียสเรื่องการส่งต้นฉบับมาก จะต้องขอดูก่อน ถ้าลงเรื่องสั้น จะขอดูอาร์ตเวิร์ก เพราะว่าตอนแรก ๆ ที่เขียนเนี่ย มีครั้งหนึ่งเราขึ้นย่อหน้าใหม่ แต่คนจัดอาร์ตเวิร์ก จัดโดยไม่อ่านเรื่องของเรา เขาเอาย่อหน้าเราไปต่อคำสุดท้ายเนี่ย ที่ขึ้นย่อหน้าใหม่เพราะเรื่องมันหายไปแล้วสิบปี แต่พอมาอ่านมันเหมือนเรื่องนี้ต่อกัน พี่โมโหแบบ.... สุด ๆ เลย(ทำสีหน้าโมโหผู้ทำการสัมภาษณ์ราวกับว่าเป็นคนจัดอาร์ตเวิร์กคนนั้น) เขาทำเรื่องเราแบบว่าชิบ...เลย หรือบางทีก็มีทำประโยคสุดท้ายของเรื่องหายไป ซึ่งมันเป็นความสำคัญของการเขียนหนังสือ ประโยคสุดท้ายอันนี้ มันจำเป็นต่อเรื่องมาก!!! หลัง ๆ เราก็จะขอตรวจ แต่ก็มีผิดอยู่ดี หนังสือส่วนใหญ่ก็จะตรวจเอง ถ้ามีคนตรวจคำแล้วก็จะขอตรวจอีกรอบ อันนี้ไม่ได้เลย เพราะจังหวะมันสำคัญมาก”

Ghost : คนกลัวผี
“ผมเป็นคนกลัวผีมาก ไม่เคยเจอ แต่กลัว กลัวขนาดไม่ดูหนังผี ถ้าเป็นหนังสือแล้วมันดีจริงก็ต้องอ่าน แต่ไม่ค่อยอ่านหรอก อย่างหนังสือ เดอะริง(คำสาปมรณะ) หรืออะไรประมาณนี้จะไม่เคยได้ตังค์จากผมเลยนะ แต่ถ้าเป็นแนวฆาตกรรมอันนี้จะชอบ หนังเรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ พี่ก็ไม่ดู ล่าสุดดู กระสือวาเลนไทน์ ดูเพราะชอบพี่ต้อม(ยุทธเลิศ สิปปภาค) ก็ยังต้องปิดตา รอดูตอนตลก ๆ แล้วก็ไม่ค่อยไปไหนคนเดียว เพราะพี่กลัวผี”

Travel : 2 เท้ากับกระเป๋า 1 ใบ
“ชอบเที่ยวมาก เพิ่งไปหลวงพระบางมา ดีนะ ไม่แพงด้วย ที่ชอบเพราะเรายังพอเห็นความเป็นของเก่าอยู่ มันก็เริ่มเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงให้เราเห็นแล้ว แต่เราก็ยังมีรู้สึกว่าก็ยังเป็นของเขาอยู่นะ คนที่นั่นเขาก็ยังน่ารักอยู่ รู้สึกว่าอยู่หลวงพระบางแล้วไม่ต้องกลัวใครโกงเรา อย่างเวลาจะเรียกรถไปไหน ก็ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะโกง หรือเวลาเดินเที่ยว เราจะรู้สึกว่าของไม่หายแน่ ที่นั่นเขายังเป็นอย่างนี้อยู่เลยนะ"
"แล้วที่ชอบที่สุด เป็นช่วงปีใหม่ คืนวันที่ 31 ที่มีการ countdown กัน คนลาวเขาไม่ตื่นเต้นเลยนะ มีแต่ฝรั่งกับคนไทยที่จะไปฉลอง ก็ถามคนเขาว่าทำไมเหรอ เขาก็บอกมาว่า ปีใหม่เขาเป็นวันสงกรานต์ เนี่ย ! เจ๋งมั้ย
เจ๋งมาก ขนาดเวลาของโลกยังไปหมุนเขาไม่ได้เลย แต่ก็จวนแล้วล่ะ เริ่มมีสัญญาณแล้ว เริ่มมีเสื้อกล้าม แต่เขายังไม่มีสายเดี่ยวนะ เริ่มมีจิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋ มีฮิฟ-ฮอฟ”

Time Mashine : วันวานอยากให้หอมหวาน
“อยากกลับไปพรีเซ้นต์ Thesis ใหม่ งานนี้เป็นเหมือนวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษา เป็นงานใหญ่ของเด็กสถาปัตย์ทุกคน ผมทำเรื่องพิพิธภัณฑ์เด็ก คล้ายๆอุทยานแห่งการเรียนรู้ สำหรับการเรียนรู้ของเด็กด้วยการเล่น ซึ่งวันที่ได้พรีเซ้นต์ รู้สึกว่าพูดไม่ดีเลย ก่อนหน้านั้นมันอดหลับอดนอน ไม่มีแรงจะพูด พูดไปก็ไม่รู้เรื่อง อาจารย์ช่วยถามก็คิดไม่ทันอีก พอพรีเซ้นต์เสร็จ อ้าว ! อาจารย์ถามช่วยนี่... อยากกลับไปทำใหม่มาก”
“เหตุการณ์นี้ถึงกับเก็บเอาไปฝันเลยนะ ทุกวันนี้ยังฝันอยู่เลย ไปถามเพื่อนทุกคนก็ไม่มีใครไปฝันแบบนี้ ผมชอบฝันว่าตัวเองเป็นนักเรียน เดินเข้าไปที่คณะเห็นเขาทำ Project กัน เราก็เฮ้ย!!! ไม่เห็นรู้เรื่องเลย เอาแล้วต้องไปซื้ออุปกรณ์ แล้วก็ตกใจตื่น เดินไปหาโต๊ะเขียนแบบ ไม่มี เฮ้ย! อ๋อ... เราเรียนจบแล้ว เราเรียนจบแล้ว โห! เหมือนขึ้นสวรรค์ ยังฝันแบบนี้อยู่เลยประมาณ 3 เดือน/ครั้ง มันเครียด มันฝังใจมาก แต่เราก็ผ่านมาแล้ว เหมือนกับยกภูเขาออกมาจากอก”

Tomorrow : วันพรุ่งนี้ของคมสัน นันทจิต
ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำแต่ละวันให้มันดี แล้วทุกอย่างจะดีเอง หลาย ๆ คนนิยมชมชอบคตินี้ แล้ววันพรุ่งนี้ มะรืน เดือนหน้า อีกสิบปีล่ะ…
“สมัยก่อนไม่เคยคิดเลยนะ สมัยเมื่อสองสามปีที่แล้วมีคนมาสัมภาษณ์ ก็บอกไปว่าผมเป็นคนไม่มีอนาคต ไม่เคยคิดถึงอนาคตเลย มาตอนนี้ก็ตั้งใจจะผ่อนบ้านให้แม่ เป็นภารกิจที่ต้องทำให้หมด มาคิดได้ตอนดูพระราชดำรัสของในหลวง เออ เนอะ...เศรษฐกิจพอเพียงก็น่าจะดีนะ แล้วพอดีผมได้ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง มันมาลบล้างความเชื่อที่เรามีอยู่ทั้งหมดเลยนะ เป็นหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านบอกว่า ที่เราชอบพวกฟังเพลง ดูงานศิลปะเนี่ยเหมือนเรากำลังเฉือนเนื้อเรากินอยู่ เพราะว่างานพวกนี้เราต้องทำความเข้าใจ เราก็คิดกันว่ามันดี เหมือนเราฟังเพลงแจ๊ส แรกแรกเราอาจไม่เข้าใจหรอก ว่าจริง ๆ แล้วมันดียังไง เขาทำอะไรได้ยังไง เราก็ต้องไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วถึงจะอ๋อ... มันเพราะเรื่องมันอย่างนี้นี่เอง"
"จริง ๆ แล้วเราเหมือนกำลังเดินทางเข้าไปสู่มายา มันเป็นกิเลสที่หลอกเราไปเรื่อย ๆ ซึ่งเอาเข้าจริงๆผมก็ยังเลิกไม่ได้หรอก แต่มันก็เออ...แปลกดี อยู่ ๆ มีคนมาบอกเราอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง สมมติผมตายไป แผ่นเสียงที่บ้านมันจะเป็นของที่ไม่มีค่าเลย แต่มันมีค่ามากนะ แล้วค่าของมันอยู่ที่ไหน อ๋อ!!! เราก็ต้องเอาไปบริจาคใชมั้ย แผ่นเสียงนี่เป็นอีกอย่างที่บ้ามาก เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ซื้อแล้วล่ะ ไม่มีตังค์ ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี่ซื้อแหลก”
sketch : ออกแบบชีวิต?
“ออกแบบชีวิตหรอ... ครึ่ง ๆ นะ อย่างเรื่องของผมมันเป็นเรื่องของจังหวะ มันไม่ใช่เรื่องของความฝัน มันเป็นจังหวะของชีวิต ตอนนั้นพี่วิทวัส สุนทรวิเนตร จะทำรายการพอดี(ตีสิบ) ผมก็ไปทำกับเขา ทาง JSL ต้องการพิธีกรก็ไปทำ ผมไม่ได้เดินตามความฝัน ไม่เคยฝันว่าสักวันจะต้องเป็นพิธีกรให้ได้ ต้องได้รางวัลในการแสดง(นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่องรักออกแบบไม่ได้) มันเป็นจังหวะของมันไปเรื่อย ๆ
แต่จริง ๆ อันนั้นก็ต้องเป็นความสนใจของเราด้วย เป็นการฝากสะสมเอาไว้ครึ่งหนึ่งตั้งแต่ยังเด็ก ๆ เป็นทุนครึ่งหนึ่ง ในตัวเรามันต้องมีความสนใจที่จะทำอย่างนั้นอยู่ ไม่ใช่ว่าพอถึงจังหวะที่เราจะเปลี่ยน เราก็จะเปลี่ยนได้โดยไม่ได้ฝากตรงนั้นไว้"
"เหมือนการเป็นนักเขียน ถ้าตอนนั้นที่เพื่อนมาชวนเขียนหนังสือ แต่ถ้าเราไม่ได้เขียนเรื่องสั้นเก็บไว้ ก็คงจะไม่มีเรื่องให้เพื่อน และถ้าไม่ได้ลงเล่มนี้ เราก็ไม่ได้ลงเล่มนั้น แล้วก็จะไม่ได้เป็นคอลัมนิสต์ ทุกอย่างมันเป็นจังหวะหมด เพราะว่าเราชอบทางนี้อยู่แล้วไง ก็เลยสามารถทำได้ทันที เมื่อโอกาสมาถึงเราก็จะรู้เลยว่าอะไรทำได้ ไม่ได้”

ใครที่ยังไม่เริ่มฝากอะไรเพิ่มเติมใส่ธนาคารชีวิต วันนี้ยังไม่สาย หมั่นฝาก เพียรสะสม แล้วดอกเบี้ยก็จะออกดอกงอกงาม


ข้อควรรู้ : ธนาคารนี้ไม่รับทำการโอนทุกกรณี โอนให้กันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จัก หรือคนรู้ใจ.

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ๋าาาา ตามมาจากอันนู้นนน

เด๋วจะมาเยี่ยมบ่อยๆนะ