8.02.2550

ธรรมชาติมุมช่างภาพมอง : ยุทธนา อัจฉริยวิญญู


เรื่อง...ขนิ-โต

จุลสาร TK park เล่มที่ 21 เดือน มีนาคม 2550
คอลัมน์ T-Talk

“ช่างภาพเป็นไม่ยากหรอก แต่ว่าการจะเป็นช่างภาพที่จริง ๆ จัง ๆ น่ะ... ยาก”
ยุทธนา อัจฉริยวิญญู : บรรณาธิการภาพ นิตยสาร NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย
อายุการทำงานกับกล้องถ่ายรูป 14 ปี จับมาแล้วทั้งฟิล์มและดิจิตอล

ช่างภาพอาจไม่จำเป็นต้องรู้ว่าป่าไม้ในเมืองไทยเป็นป่าไม้เขตร้อน ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าป่าใหญ่ในโลกแบ่งเป็น 3 โซน อยู่ที่ประเทศอินเดีย ประเทศบราซิล และฝั่งประเทศไทย พม่าเวียดนาม ลาวและอินโดนีเซีย
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าช่างภาพจะรู้ จะเข้าใจ และหลงใหลสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ธรรมชาติ”

เที่ยวธรรมชาติ…
ปกติเป็นคนป่าอยู่แล้ว แล้วเมื่อก่อนชอบไปพักผ่อน แล้วก็ไปหลงรักป่า ไปกินอยู่ในป่า แล้วก็เริ่มเห็นสัตว์ป่าถูกทำร้าย ถูกรังแกอยู่เรื่อย ๆ ป่าในดวงใจ คงจะเป็นทุ่งใหญ่นเรศวร กับห้วยขาแข้ง เพราะเป็นบ้านของสัตว์ป่าที่ยังอบอุ่น ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่เยอะ เวลาเจอสัตว์ป่า ก็พยายามคุยกับเขาบ้าง ให้เขารู้ว่าเราเป็นมิตรกันในมือคือกล้อง ไม่ใช่ปืน หรือบางทีก็พูดคุยกับต้นไม้
เมื่อ 3 ปีที่แล้วก็เริ่มทำร้านอาหารเล็ก ๆ แถว ๆ ถ.นวมินทร์(ร้าน Inside Jungle) ทำขึ้นมาเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือเกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น เจ้าหน้าที่ที่ดูแลป่าไม้ซื้อของใช้ที่จำเป็น เช่น ผ้าห่ม หรือ สัตว์ป่าที่ถูกทำร้าย ในร้านก็จะฉายสไลด์ตลอด จะเป็นภาพสัตว์ป่า จัดอบรมถ่ายภาพฟรี แต่ตั้งแต่มาทำที่นิตยสาร NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย ก็ปิดไปเพราะไม่ค่อยมีเวลา แต่ก็คิดว่าวันหนึ่งจะทำร้านแบบนี้อีก

ช่างภาพ กับ ป่าไม้…
ด้วยเราชอบเข้าป่าอยู่แล้ว พอเขาสั่งงานที่เกี่ยวกับป่ามา ก็ทำให้มีทักษะอยู่บ้าง แต่ว่าถ้าไม่เคยเที่ยวมาก่อน ก็อาจจะไม่รู้ว่าเวลาคุณเดินเข้าป่าไปจะเจอทากเล็ก ๆ เจอเห็บตัวเล็ก ๆ ที่สามารถกัดแล้วคันทั้งปี เจอทางเดินแย่ ๆถ้าเป็นช่างภาพที่ไม่เคยเข้าป่ามาก่อน ก็อาจจะรู้สึกว่ามาทำไม แต่สำหรับตัวเอง ตั้งแต่เชื้อโรคยันดวงดาวอะไรก็ได้
เสน่ห์ของธรรมชาติ…
เสน่ห์ของธรรมชาติ อยู่ที่ไม่ต้องทำอะไร เพราะธรรมชาติ คือ ธรรมะ ธรรมะ คือ ธรรมชาติ พระพุทธเจ้าก็เรียนรู้มาจากคำว่า ธรรมชาติ การได้ไปอยู่ในโลกใบที่ช่วยขัดเกลาจิตใจให้เราสามารถยืนอยู่บนความเที่ยงตรง ไปขัดเกลากิเลสออกด้วยใบไม้ ด้วยแม่น้ำสายใหญ่ ด้วยลำธาร คล้าย ๆ กับไปล้าง พออยู่แบบนี้(ตามวิถีชีวิตของคนเมือง)เห็นอะไร ๆ ก็รู้สึกว่าสวย งาม เช่น ยามของกะเหรี่ยง เขาใช้กันอย่างนี้นะ แต่ทำไมอยู่ในเมืองไม่ใช้กัน ก็มันไม่เหมาะ ก็เลยมองกลับมาดู มาเรียนรู้จากโลกแห่งความจริง
ภาพกลางป่าบันทึกอยู่ในการ์ดความทรงจำ…
ผมเจอสัตว์อะไรก็ชอบหมดแหล มีที่ไปทุ่งใหญ่นเรศวร (เขตอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก) ไปถ่ายวัวกระทิงมา ที่ถ่ายได้เพราะว่ามันยังเด็กอยู่ พอเห็นเราก็ค่อย ๆ เดินเข้าไป ซึ่งถ้าโดยปกติวัวพวกนี้ก็คงจะเดินหนีเราไปแล้ว แต่นี่เขามีลูกด้วยก็เลยทำให้เดินช้าหน่อย ก็ได้ภาพครอบครัววัวกระทิง พ่อแม่ลูกกลับมา แล้วก็มีถ่ายวัวแดง ซึ่งคนจะชอบสะสมกัน วัวแดงนี่ส่งเข้ากรุงเทพฯหัวละ 50,000 บาท นายพรานที่ล่าไปได้ 10,000 บาท ของพวกนี้ผมไม่เห็นว่ามันมีค่าอะไรเลย แม้กระทั่งงาช้าง เคยไปเจองาช้างในป่า รูปร่างคล้าย ๆ รากฟัน เป็นโพรง เป็นซาก ก็ลองจับดู มันเป็นก้อนแป้ง ๆ รูปหัวใจ พอดูแล้วก็ปาออกไปสุดแรง ให้มันอยู่ในป่านี้ดีกว่า
ธรรมชาติลดความสมบูรณ์
ถ้ามองแบบเชิงลึกเลยนะ มนุษย์เราไม่สามารถที่จะหยุดอะไรได้ด้วยตัวเอง เราเดินเข้าไปหาความวิบัติอย่างช้า ๆ มีช่วงหนึ่งผมจะเข้าไปเก็บขยะในป่า ไปคนเดียวด้วยนะ พอไปถึงจุดหมายปลายทาง ขยะเต็มรถเลย ก็มาคิดว่าในความเป็นจริง เราไม่สามารถที่จะไปทำแบบนั้นได้หรอก แต่ถ้าได้ไปทำอะไรแบบนั้นปีละครั้งมันก็สนุกดีนะ ก็มาคิดว่าเราไม่ต้องไปสอนคนอื่น แต่เราจะทำยังไงกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ มีครั้งหนึ่งผมเจอเด็กกำลังยืนยิงนก ผมก็เดินเข้าไปบอกเขาว่ารู้รึเปล่าว่าลูกเขาอาจรอแม่อยู่ที่บ้านก็ได้ ลูกที่บ้านเขาจะเป็นยังไง เขาก็แปลกใจ พ่อแม่เขาไม่เคยสอนแบบนี้ สอนแต่ว่าเติบโต ใช้ชีวิต มีเงินทอง ไม่เคยสอนว่าไม่ให้ทำร้ายชีวิตใคร ผมเห็นตั้งแต่เขายิงนก ถอนขน ๆ นำน้ำมันใส่กระทะ พอทอดเสร็จ นกตัวเมียก็มายืนอยู่ข้าง ๆ กระทะ นั้น บินวนรอบ ๆ ผมก็บอกให้เขาเรียนรู้กับสิ่งที่เขาเห็นเลยดีกว่า พอถามเขาว่าอร่อยมั้ย ที่บ้านไม่มีหมูเหรอ เขาก็ตอบว่ามี แต่ที่ทำไปเพราะความคะนอง และทุกวันนี้เด็กคนนั้นขาขาด เพราะมอเตอร์ไซต์ล้ม
การโต้กลับของธรรมชาติ
อย่างเหตุการณ์สึนามิก็เป็นการเอาคืน ผมไม่ใช่นักวิชาการ แต่ผมเห็นมันว่าที่เป็นแบบนี้เพราะ เราไปทำลายป่า ไม่มีรากให้คอยยึดกับผิวดิน พอฝนตกลงมาแรง ๆ มันก็ไหลเป็นน้ำป่า เป็นน้ำโคลนถล่มมา พอน้ำท่วมที่ตรงนี้สัตว์มันก็หนีไปอยู่อีกทีหนึ่ง ไปเจอเจ้าถิ่นเข้าก็เกิดการแย่งพื้นที่กัน สู้กัน มันก็ตาย ผมคิดว่ามันเป็นวงจรของธรรมชาติที่กำหนดให้เป็นแบบนี้ เหตุการณ์สึนามิที่ตายกันไปเพราะอะไร ก็เพราะเราไปอยู่ใกล้ทะเลมากเกิน ถ้าเราไม่อยากรู้จักสึนามิเราก็ถอยห่างออกมาสิ
ไฟป่า
ต้นเต็งรัง พอถึงหน้าหนาวเขาจะต้องใช้น้ำน้อยที่สุด ก็ต้องทิ้งใบ ใบไม้ก็จะตกอยู่ตามพื้น พวกลูกไม้ต่าง ๆ ที่นกมาถ่ายไว้ก็ไม่สามารถที่จะเติบโตขึ้นได้ แต่ถ้าเกิดไฟป่าก็จะช่วยเปิดทางให้เลย ถ้ามีฝนตกตามลงมาด้วย พวกลูกไม้ที่อยู่ใต้กองใบไม้ก็จะโตขึ้นมาได้ กลายเป็นห่วงโซ่อาหาร แต่การเกิดไฟป่ามันก็มีสิ่งที่ไม่ดีอยู่เยอะ สัตว์ต้องตาย นกที่ทำรังอยู่ในนั้น เต่า สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในดิน จริง ๆ แล้วโอกาสเกิดไฟป่ามีน้อยมาก เกิดจากฟ้าผ่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักเกิดจากฝีมือของคน จุดเสร็จแล้วถาง ทำไร่ หาเงินให้ได้เยอะ ๆ

ทั้งที่จริง ๆ แล้วการที่เรายิ่งหาอะไรสักอย่าง ก็ยิ่งไม่เจอสักที มันจะห่างออกไป ตอนนี้ปรัชญาชีวิตคือ เดี๋ยวทุกอย่างก็ผ่านไป อย่างการถ่ายภาพเมื่อก่อนเราตื่นเต้นอยากมีหนังสือถ่ายภาพของตัวเอง ถ้าเรามีเราจะมีความสุขมาก แต่พอมองกลับไปก็จะรู้สึกว่าทำไมเราทำได้แค่นี้ เมื่อถึงแล้วมันก็ผ่านไป ทุกอย่างต้องผ่านไป เดี๋ยวมันก็หมด พอหมดแล้วเราจะตั้งอะไรไว้อีกล่ะ

เก็บ(รายะละเอียด)ก่อนกด(ชัตเตอร์)…
ก่อนถ่ายรูปแต่ละครั้งก็จะต้องคิดไปก่อน ว่าจะถ่ายรูปอะไร อย่างไร เราต้องการ
อะไร แม้กระทั่งภาพ ๆ เดียว ที่จะต้องไปถึงสุดล้าฟ้าเขียวในแผ่นดินสยาม ไม่ว่าไงก็ช่างก็ต้องไปให้ได้ คนเราอยากรู้ในเรื่องที่ยังไม่รู้ ไม่อยากเห็นอะไรที่รู้แล้ว เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องอยากเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น สิ่งที่เราพูดถึงกันอยู่บ่อย ๆ แล้ว พอเอามาให้ เขาก็เปิดผ่านเลยไป
ตอนเรียนพี่เกือบจะได้บ๊วยในห้องเรียน ในห้องมี 32 คน คนที่เก่ง ๆ จบออกมาก็ไม่เห็นจะเป็นช่างภาพเลย ที่เกเร ๆ นั่งอยู่ท้ายห้องนี้แหละ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นช่างภาพ ที่จริงจังให้กับสถาบันด้วย เราเติบโตมาจากที่นี่
หน้าที่ของบรรณาธิการภาพ...
ก่อนอื่นต้องดูแลภาพตัวเองให้ดีที่สุด ก่อนที่จะไปดูแลภาพของคนอื่น คำว่า บรรณาธิการภาพ ก็คือ ช่วยตัดสินใจเด็ดขาดว่าภาพไหนควรใช้ ไม่ควรใช้ แนวทางในการปฏิบัติที่เราทำให้มันตรงกับคอนเซปต์ของนิตยสาร เช่น ดูว่าฝรั่งเขาต้องการแบบไหน เราก็ต้องทำผลงานให้มันทัดเทียมงานใน NATIONAL GEOGRAPHIC ภาพสามารถบอกได้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่
มาตรฐานของช่างภาพที่ดีของคุณคือ...
ผมตั้งไว้ดีที่สุดของโลกนี้ ของช่างภาพระดับโลก พูดถึงความเป็นสากล ความเป็น
หนึ่งเดียวที่หลุดออกมาจากการตั้งขึ้น ไม่ใช่การคิดไปเอง งานของผมถูกตรวจสอบจากทางเอมริกา แต่ก็มีงานที่เราอยากจะเป็นตัวเราเองเหมือนกัน แต่ก็ต้องหมายความว่า มาตรฐานต้องสูงด้วย
ปัจจุบันใช้กล้องฟิล์มหรือดิจิตอล...
ฟิล์มด้วย ดิจิตอลด้วย ก็ต้องยอมรับว่าฟิล์มคือสิ่งที่ยังดีที่สุด ไม่ใช่ว่าเราไปใช้กล้องดิจิตอล แล้วเอาจิตวิญญาณของเราไปรีทัชภาพ เมื่อเราใช้กล้องดิจิตอลเราก็ยังต้องรอแสง รออะไรที่ดีที่สุดอยู่ แล้วค่อยถ่ายภาพ การใช้กล้องดิจิตอลในมุมมองของผม ก็คือ เรื่องการประหยัดเท่านั้นเอง ไม่ใช่ การสร้างภาพ การสร้างภาพจริง ๆ ก็คือ การตกแต่งภาพนั่นแหละ ลักษณะการทำงานของผมยังเหมือนเดิม เทคโนโลยีช่วยทำให้เราสามารถเห็นภาพที่ถ่ายแล้วได้เลย เอามาดู ๆ เออ... ต้องถ่ายให้ดีกว่านี้นะ แต่ถ้าเป็นฟิล์มเราจะมองไม่เห็นเลย ต้องรอล้างรูปก่อน
กี่กด/1 การทำงาน…
ถ้าร่างกายดี ๆ ก็เล่นไม่เลิก สมมุติว่าไปถ่ายเรื่องขาเทียมก็จะติดต่อไปที่หน่วยทหารแถว ๆ จ.อุบลราชธานี เพื่อไปถ่ายช็อตเดียว นำมาประกอบเรื่อง เขาก็ระเบิดให้ดูทีเดียว ใครเพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ก็ถ่ายไปได้แค่สองใบรอกดตรงช่วงที่ไฟระเบิดขึ้นมาในระดับที่เราต้องการ แต่ถ้าเกิดเราจะถ่ายรูปพระที่เดินออกมาจากม่านหมอก เราก็ค่อย ๆ ถ่ายรูปในขณะที่กำลังเดินมาเรื่อย ๆ ใกล้มาเรื่อย ๆ ก็จะถ่ายได้หลายรูป เราก็ต้องใช้ความเป็นมืออาชีพกดให้เร็วที่สุด เร็ว ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ได้ดีด้วย ถ้าจะต้องลงน้ำ เราก็ลุยไปเลยอย่าคิดมาก ลงน้ำไปเพื่อให้ได้รูปที่ดีที่สุด
ช่างภาพสุขภาพต้องสมบูรณ์...
เป็นช่างภาพร่างกายต้องแข็งแรง ร่างกายไม่แข็งแรงทำงานไม่ได้หรอก ต้องแลตัวเองดี ๆ จริงๆ แล้วก็ทนได้ทุกอย่าง แต่มาแพ้อากาศหนาวๆ ตอนนั้นต้องไปถ่ายภาพที่บ้านกะเหรี่ยงพระฤาษี หมู่บ้านเลตองคุ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ติดกับประเทศพม่า ไม่สบายตั้งแต่ก่อนที่จะ ไปแล้ว พอถึงแถว ๆ จ.กำแพงเพชร ก็จอดรถข้างทางเข้าโรงพยาบาล ให้หมอฉีดยา 1 เข็ม การฉีดยาก็ช่วยทำให้เราทำงานได้แค่ 2 -3 วันเท่านั้น แล้วก็ต้องเดินข้ามภูเขาไป 15 ลูก ระยะทาง 20 กิโลเมตร พอเข้าไป คืนแรกอากาศหนาวมาก อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส นอนกันไม่ได้เลย ต้องลุกขึ้นมา มันหนาวเหน็บในกระดูก
ชีวิตกับการรอ...
บางอย่างมันต้องรอนะ ที่ไม่ต้องรอก็คือการเข้าไปทำ แต่การเข้าไปทำไม่ใช่ว่ามันจะเสร็จ คุณต้องรอสิ่งที่ดีที่สุด

ทุก ๆ อย่างรอบตัวเราสามารถนำกรอบสี่เหลี่ยมจัดวาง กดและอัดมาเป็นภาพได้หมด ไม่ว่าจะภาพเป็ดไก่ คนจุดประทัด ก้อนเมฆ... เพียงแค่คุณจะมองเห็นกันหรือเปล่า

1 ความคิดเห็น:

Bambooka กล่าวว่า...

ทักทาย ๆ
ชีวิตบางช่วงที่เกี่ยวกัน...
เราได้แลกเปลี่ยนซึ่งความฝัน...