8.22.2550

TeMpLe StaY : หน้าที่ 3 - กุฏิ

อินทรียสังวร >>>>>>>>>>>>


ชื่อกุฏิเข้าทีดี เป็นกุฏิที่คุณแม่บุญยงค์ แม่ชีที่ดูแลออกแบบการก่อสร้างกุฏิแต่ละหลัง, ควบคุมเดินสายท่อน้ำกุฏิแต่ละหลัง, ถอนฟันให้แมว, ตัดหางหมา นักพัฒนาและนักเทศน์ฝ่ายภิษุณีประจำวัดป่าผาลาด ด้วยจำนวนพรรษาที่บวชมาถึง 25 ปี เท่าอายุเราเลย


กุฏิที่นี่เป็นบ้านขาดย่อมสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 2 คน ชั้นล่างเป็นใต้ถุนยกสูง ชั้นบนมี 1 ห้อง เป็นทั้งที่นอน ที่อ่าน ที่เขียน ที่ทำสมาธิ มีลานระเบียงไว้รับลม ฟังเสียงไผ่เอียดออเอียด มีแดดสาดและส่องลอดร่องใบไม้ ต้นไม้มารำไร เมื่อก้าวเท้าขึ้นบันไดไปบนกุฏิ พบไม้กวาดปลายชี้ฟ้าพิงข้างฝา ข้างๆ มีกระโถนสีแดงคว่ำอยู่





“ตกลงว่านอนคนเดียวใช่ไหม”
“ค่ะ” ตอบพี่จิ๋ว คุณแม่บุญยงค์ สั้นๆ นิ่งๆ
นอนคนเดียวก็ได้...ดังอยู่ในใจ ไหนๆ ก็ได้รับเกียรตินอนในกุฏิของท่านแม่บุญยงค์แล้ว ขอให้คุณแม่บุญยงค์ช่วยคุ้มครองด้วยละกัน
“ไม่กลัวเหรอ” พี่ผู้ร่วมเดินทางถามไถ่
“ไม่....ค่ะ นู๋เคยนอนคนเดียวบ่อยๆ” ต้องยืนยันความมั่นใจต่อไป อย่าหวั่นไหวๆ ที่บ้านหลังใหญ่กว่านี้ มีตั้ง 3 ชั้น ยังนอนได้ นี่มีแค่ 2 ชั้นเล็กกว่าด้วย ไม่น่าจะเป็นปัญหาน่า....
“อื้มม...เก่งจัง” แค่นอนคนเดียวถือว่าเก่งแล้วหรอคะพี่ นู๋ยังไม่ได้นั่งสมาธิ ฝึกจิต เดินจงกลมเลยนะคะ - -"
เอ้อ... แล้วคุณแม่ไม่อยากให้นำขนม ของกินไปทานที่กุฏินะคะ มดจะขึ้นได้ แล้วก็จะรบกวนการทำสมาธิของเราด้วย
ค่ะ... ไม่มีขนมค่ะ มีแต่น้ำผลไม้ 1 ขวด นี่เราผิดศีลซักข้อแล้วหรือเปล่าเนี่ย

ในการเดินทางมาถ่ายธรรมครั้งนี้มีผู้ร่วมเดินทางอีก 5 ท่าน คือพี่จิ๋ว-พี่ผู้แนะนำมาทำสงบที่นี่ พี่ใหม่-พี่ผู้ผ่านการเดินทางมาที่นี่แล้ว 2 ครั้ง พี่สุนีย์ – พี่ผู้ผ่านการนั่งสมาธิเดินจงกลมจากที่อื่นมาบ้างแล้ว พี่เกด – พี่ผู้เริ่มสนใจธรรมะอย่างจริงจัง พี่หลิว – พี่ผู้หยิบยื่นลูกเสาวรสให้เรา


แบ่งกันนอนเป็นคู่ๆ และแบบปลีกวิเวก ป้านู๋กับพี่จิ๋ว เลือกที่จะนอนคนเดียว พี่สุนีย์จับคู่กับพี่เกด พี่ใหม่กับคู่กับพี่หลิว


ตอนกลางวันก็ร่มรื่นดีนะ ไม่รู้ว่ากลางคืนแสงนวลเหลืองจะน่าอยู่ ร่มรื่นใจเหมือนตอนแดดออกหรือเปล่า

ป่าธรรมชาติ
มีเสียงใบไม้ต้องลม
เสียงนกร้อง
เสียงหมู่แมลง
เสียงสรรพสัตว์
เมื่อฉันไปเยือน
เสียงส่งเพิ่ม
เสียงคุย
เสียงกำไลข้อมือกระทบกัน
เสียงเดิน
เสียงน้ำที่ไหลจากขวดลงแก้ว
เสียงหายใจ
...
เสียงร้องของท้อง

Next : ศีล

8.15.2550

TeMpLe StaY : หน้าที่ 2 - ป้า

บันทึกหน้า 2 – ป้า

“ป้าคะ หนูช่วยถือกระเป๋าให้ไหมคะ”
โอ้...ป้า
ถ้ารู้ว่าการหันหน้าพาตัวเข้าวัดเข้าวา แล้วจะมีคำนำหน้าชื่อแก่เกินวัยขนาดนี้ น่าจะรอให้อายุสัก 30 ปีก่อน แล้วค่อยมาดีมั้ย มีคนเตือนหลายต่อหลายคนแล้วเชียว ว่าระวังผี ระวังลำบาก ระวังยุง ถ้ามีซักคนบอกว่าระวังเป็นป้านะ... ก็จะเชื่อไม่มาตามคำบอกไปแล้ว
จะบ่นปาวๆไปก็สายเกินกว่าจะกลับหลังหันกลับ



ตั้งแต่เกิดมา มีแต่คนเรียก น้อง กับ พี่ หรือไม่อย่างมากก็น้า แค่น้าก็บาดไปถึงขั้วไตแล้ว แต่นับตั้งแต่วันนี้ไป (วันเสาร์) ไปจนถึงวันจันทร์ 3 วันเกือบเต็มที่เราจะกลายเป็น ป้านู๋ ๆๆๆๆ

“น้องเมย์คะ แค่พี่ได้ไหมคะ... พี่ขอร้อง”
โอกาสปลอดคน ฉวยความเงียบกระซิบเบา ๆ ขอเปลี่ยนจาก ‘ป้า’ เป็น ‘พี่’ ถือว่าช่วยผู้หญิงตัวแดงๆที่ยังไม่อยากเป็นป้าทีเถอะ แต่ดูเหมือนว่าน้องจะเคยชินกับ ‘ป้านู๋’ ไปเสียแล้ว
น้องเมย์ก็อายุได้ 12 ปี เรียนอยู่ชั้น ป.6 โรงเรียนวัดเขาน้อย มาอยู่กับคุณยายสง่า แม่ครัวประจำวัดป่าผาลา ที่ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี


ส่วนพี่นู๋ก็อายุมากกว่าน้อง 10 กว่าปีเท่านั้นเอง
จริงๆ ก็เข้าข่าย เป็น ป้า ได้แล้วเหมือนกันนะ
แค่ป้าก็ทุกข์แล้วเนี่ย ยายนู๋!!!
เดินตามน้องเมย์ไปยังที่พัก หรือ “กุฏิ” ตามไปอย่างระแวดระวัง พร้อมกับอุปกรณ์ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้

อุปกรณ์มอบก่อนเข้ากุฏิ
1. ผ้าห่ม
2. หมอน
3. เสื่อ
4. มุ้ง
5. ไฟฉาย
6. เทียน
7. ไฟแช็ก
8. ขวดน้ำ
9. แก้วน้ำ
10. ร่ม


ก้าวลงบันไดคอนกรีตจนถึงขั้นสุดท้าย เปลี่ยนบรรยากาศเหยียบดินเหยียบก้อนหิน ทีละก้อนๆ ใช้ช่วงเท้าก้าวสั้นบ้าง ยาวบ้าง เริ่มฝึกจิต ฝึกสมาธิกันตั้งแต่มาถึงเลย ระยะทางไม่ไกล แต่หอบลง หายใจดัง
ระหว่างเดินอาจท่องไปด้วยว่า...


พลาดหนอ
เจ็บหนอ
ลื่นหนอ
ระวังหนอ

TeMpLe StaY : หน้าที่ 1 - จัดวาง

บันทึกหน้า 1 - จัดวาง


หลายอาทิตย์ก่อนการเดินทาง
ประกาศให้ทราบเกือบทั่วกันว่า.... “เราจะไปนั่งวิปัสนานะ 3 วัน 2 คืน”
ที่ไหนหรอแก
....
“จ.กาญจนบุรี”
ชื่อวัดอะไรง่ะ
“ไม่รู้สิ”
แล้วอยู่ส่วนไหนของกาญฯ
“ไม่รู้เหมือนกัน รู้แค่ว่าเป็นวัดป่า”

ข้อมูลแม่นปึ๊กมากมาก
แล้วเตรียมอะไรไปบ้างล่ะ




“ แว่วว่าที่นั่นมีให้แล้วหลายอย่าง เตรียมตัวกับใจไปก็พอมั้ง....”

วางงานทั้งหมดที่ค้างคาไว้ที่กรุงเทพฯ ไม่พกใส่กระเป๋าหรือติดหัวออกไปด้วย
จัดกระเป๋าเดินทาง น้องชายสุดที่รักอุปการะกระเป๋าให้ยืมมาใช้



อุปกรณ์เตรียมไม่ค่อยพร้อม T T



* เสื้อกันหนาว 1 ตัว เพราะวัดนี้อยู่บนเขาอากาศอาจจะหนาวมาก ผ้าห่มที่เตรียมไว้ให้อาจบางเกินไป ควรมีตัวช่วยเสริมไปด้วย (อันนี้ได้ใช้อยู่ กลางคืนกับรุ่งเช้าอากาศเย็น)
** ยาทากันยุง ในวัดอาจจะมียุงป่าตัวใหญ่เป้งรอยู่ ตัวเป็นตุ่มกลับมาไม่คุ้มกัน (สำหรับคนที่แพ้ยุง น่าจะพกติดไปด้วย ส่วนเรามิได้ใช้ แต่ได้ให้คนอื่นใช้)
*** หนังสืออ่านง่าย ๆ ซัก 1 เล่ม หยิบบทกวีไปอ่านซะเลย กวีนิพนธ์อ้ายชิง, ทวีปวร แปล (หยิบไปแต่ไม่ได้อ่าน หนังสือของเราจะอ่านเมื่อไรก็ได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งรอบตัวที่ได้เจอใน 3 วัน ไม่ได้เปิดอ่านที่ไหนก็ได้ ต้องเก็บและเปิดอ่านให้เต็มที่)
**** ชาร์ตแบตกล้องถ่ายรูปให้เต็มที่ + CF การ์ด 2 อัน + เลนส์ 28-105mm. กับ 50 mm.ก็มีอยู่เพียงเท่านี้ล่ะ (วันกลับแบตแทบจะเกลี้ยงก้อน น่าจะมีอันสำรองไปจะได้ถ่ายเต็มที่กว่านี้)
***** เสื้อ 3 ตัว กางเกง 1 ตัว ทุกตัวล้วนปราศจากสีขาว!!! (จริงอยู่วาธรรมะอยู่ที่ใจ มิได้อยู่ที่การแต่งกาย แต่หากเราสำรวมได้ตั้งแต่กาย ใจเราก็น่าจะควบคุมได้ไม่ยาก ไม่ตัองถึงขั้นแต่งเต็มชุดก็ได้ เพียงเสื้อสีขาว กางเดงสีดำ/เทา/ขาว ก็พอ)
******โปสการ์ด เขียนกลับมาหาเพื่อน (ได้เขียนส่งกลับมา ตามวันและเวลาที่เหมาะสม แต่สถานที่ส่งกลับมาเป็นตู้จม. แถวๆ ลาดพร้าวซะได้)
******* สมุดจดเล่มเล็กๆ + ปากกา (ของสำคัญจำเป็นพกติดตัวตลอดเวลา)
******** ครีมบำรุงร่างกายที่จำเป็นๆ เช่น สบู่ – ยาสีฟัน – ครีมทาตัว – โฟมล้างหน้า – ครีมทาหน้า –แป้ง – ครีมกันแดด งดน้ำหอม ที่ปัดแก้ม ทาตา ขนตา พวกเครื่องแต่งเติมให้สวย (เอาเข้าจริง ๆ ก็ลืมทานู่นนี่นั่น)
********* ซื้อหนังสือพิมพ์ไปอ่าน 1 เล่ม กรุงเทพธุรกิจ เล่มวันเสาร์ มีส่วนเสาร์สวัสดี ที่ไม่ควรพลาดอ่าน (อ่านบนรถตู้ ระยะเวลาเดินทางพอเหมาะกับความยาวของหนังสือพิมพ์)


พกมาก ก็หนักมาก
พกน้อย ก็หนักน้อย

เปลี่ยนของใช้ เป็นของประดับ

บางพกได้ใช้

บางพกไม่ได้ใช้

บางพกเอาไปใช้
บางพกก็ไม่หยิบออกมาใช้

Next page >> ป้า

8.02.2550

บทสัมภาษณ์ คมสัน นันทจิต คมคิดเขียนคุย

โดย…ขนิ-โต และกองกำลังปั้นฝันฯ
จุลสาร TK park เล่มที่ 14 เดือนสิงหาคม 2549
คอลัมน์ T-Talk






ในธนาคารชีวิตแต่ละคน ฝาก สั่งสมอะไรเอาไว้บ้าง ฝากเป็นประจำ ฝากบ้างบางอารมณ์ ดอกเบี้ยผลิดอกออกให้เห็นผลตามเหตุแห่งการฝาก ระยะเวลาและความเพียรในการเติมประสบการณ์ที่ชื่น ที่ชอบ ประกอบก่อร่างเป็นการได้ทำในสิ่งที่รัก หากลองเปิดสมุดบัญชีของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น 108 มงกุฎดู กว่าจะมาถึงหน้านี้ที่ทุก ๆ คนรู้จักกันดี หน้าเก่า ๆ ที่แล้ว ๆ มานั้นจะราบเรียบ ขรุขระ หรือโรยด้วยกลีบกล้วยไม้…


“ในชีวิตของผม ชอบทำอยู่สามอย่าง หนึ่งคือชอบอ่านหนังสือ สองคือชอบดูหนัง และสามคือชอบฟังเพลง”

book : อักษรพาเพลิน
คมสันมีแววอ่านฉายแสงมาตั้งแต่ยังไม่ได้ก้าวเข้าประตูโรงเรียน เห็นหนังสือพิมพ์วางอยู่ก็หยิบเอามาสะกดเป็นคำ เขาว่า “บ้านนี้รักการอ่าน”
“ผมว่าครอบครัวเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ที่จะปลูกฝังให้ผมรักการอ่าน พ่อกับอาจะมีหนังสืออยู่เยอะ อย่างอาเป็นหมออยู่ที่เชียงใหม่ พอถึงช่วงฤดูร้อนเขาก็จะลงมากรุงเทพฯ เอานิตยสารสตรีสารสำหรับเด็กขนมาให้อ่าน โห! สนุกมากเลย หรือเวลาที่ไปอยู่กับคุณย่าที่ภาคใต้ ที่นั่นก็จะมีตู้หนังสือ ผมก็จะอ่านการ์ตูน อ่านนู่นนี่ อ่านเยอะมาก อ่านทุกแนว ทุกอย่าง อ่านจนไม่กลัว ไม่เป็นเรื่องยาก ไม่ชอบเล่นกีฬา เพราะเล่นกีฬาไม่เก่ง ชีวิตส่วนใหญ่ก็จะอยู่แต่กับหนังสือตลอด”
“พอสมัยเรียนมัธยมก็ได้มาเข้าที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่นี่มีสิ่งที่ทำให้ตกใจอยู่สามอย่าง อย่างแรก คือสนามฟุตบอล ต่อมาก็โรงอาหาร และก็อย่างสุดท้ายก็คือห้องสมุด มีห้องสมุดที่ใหญ่และเก่าแก่ เพราะความที่เป็นโรงเรียนที่ตั้งมานานแล้ว หนังสือแต่ละเล่มก็จะเก่า หายาก นี่แหล่ะแหล่งความสุขของผมเลย ไม่ต้องไปไหนแล้ว ก็อยู่ห้องสมุดตลอด ชอบ”
“ผมอ่านหนังสือในห้องสมุดสวนกุหลาบฯ เยอะมาก มากจนน่าจะจำหนังสือทุกเล่มในห้องสมุดได้เลยล่ะ ผมอยู่ในห้องสมุดทุกวัน ไล่อ่านหมดทุกประเภท ผมไม่ชอบเล่นกีฬา เป็นคนตัวใหญ่แต่วิ่งช้า(หัวเราะ) เลยไม่ชอบเล่น อย่างเวลาเล่นกีฬาแข่งกันเป็นทีม ผมก็จะเป็นประเภทตัวแถม(หัวเราะกันอีกครั้ง) มักจะเป็นเศษให้เขาเลือก จะอยู่ฝ่ายไหนก็ได้”

Shy : เด็กขี้อาย กลายเป็นผู้ชายช่างพูด
ใครจะเชื่อบ้างว่าตอนเด็ก ๆ คมสันเป็นคนขี้อายมาก โดนเพื่อนแกล้งก็บ่อยครั้ง แล้วอาจารย์ก็มักจะเรียกให้ออกไปพูด ร้องเพลง ไปทำอะไรต่อมิอะไรหน้าห้องตลอด ความกลัวทำให้เขาจำต้องเอาชนะมันไปให้ได้ กว่าจะรู้ตัวเองว่าเป็นบุคคลผู้สร้างเสียงฮาก็ปาเข้าไปม.ปลายแล้ว หนึ่งในกิจกรรมที่เขาแสนจะภูมิใจสมัยเรียนอยู่สวนกุหลาบ “กิจกรรมแปรอักษร” ในการแข่งขันฟุตบอล
จตุรมิตรสามัคคี
“ตอนอยู่ ม.ต้นเห็นรุ่นพี่เขาที่ยืนพูดข้างล่างแสตนด์สั่งให้แปรเป็นรูปนู่นนี่ ก็เริ่มมาคิดว่า เออ… ก็ดีนะ เขาสามารถสั่งคนเป็นพัน ๆ ให้ทำนู่นนี่ได้ ทุกคนต้องฟังเขา พอมาอยู่ม.ปลาย ก็เริ่มเข้าชมรมเชียร์ ต่อมาก็ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานชุมนุม ได้ออกไปยืนสอนน้อง ๆ แปรอักษร เออ! เวลาเราพูดก็มีคนฟังนะ บอกให้ทำอะไรก็ทำตาม พอซักระยะเพื่อนก็ให้ไปแข่งขันโต้วาที ก็ไปพูดโต้วาทีแข่งกับเขา แต่ก็ยังตื่นเต้นอยู่นะ ไปทุกครั้งก็ตื่นเต้นทุกครั้ง ก็ยังกลัว ก็ยังอาย… แต่ก็ทำได้ เหมือนกับว่าต้องข้ามมันไป ถ้ามัวไปยืนเก้ ๆ กัง ๆ อึกอัก ๆ มันก็จะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ พอมาเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี่ก็เริ่มไปกันใหญ่ มีอะไรให้ทำเยอะมาก ทั้งละคร ทั้งเป็นพิธีกรคณะ ก็เหมือนกับได้ฝึกไปเรื่อย ๆ ชีวิตตอนนั้นมันสนุก สนุกมาก ๆ… แต่ก็ยังอายอยู่นะ ถึงทุกวันนี้เวลาทำงานก็ยังตื่นเต้น ยังสั่น ยังอายอยู่ ก็แปลกใจตัวเองเหมือนกันว่าทำไม?”

Change : แสงสว่างส่องชีวิต
จากที่เคยพูดกับตัวเองว่า “เรียนไปทำไม เพื่ออะไร” ไม่สนใจเรียน หันหน้าเข้าหาแต่กิจกรรม จนกระทั่งขึ้นปี 3 เมื่อเขาได้พบกับ อาจารย์เฉลิม สุจริต ในรายวิชา Construction Material เหมือนตัวเองได้พบแสงสว่าง
“วิชา Construction Material เรียนเกี่ยวกับวัสดุโครงสร้างต่าง ๆ ของอาคาร เช่น หิน ทราย ไม้ ว่าเป็นยังไง เป็นวิชาที่น่าเบื่อมาก โหย ! บรรพบุรุษวิศวะเลยล่ะ แรก ๆ จะไม่เข้าใจ เรียนไปทำไมเนี่ย ปี 1 ไม่ตั้งใจเรียน ปี 2 ก็ไม่เรียนอีก พอปี 3 ก็มาเจออาจารย์เฉลิม สุจริต อาจารย์จะเรียกนักเรียนว่ายู อ่ะ! ชี้ไปที่คนนี้ว่า “ยู อนาคต ยูจะได้ออกแบบรัฐสภา ยูจะได้ออกแบบวัดพระแก้ว เห็นไหมว่า Architect มันยิ่งใหญ่ขนาดไหน” ผมนี่ตกใจ มันมีแบบนี้ด้วยเหรอในโลกของอาจารย์ เหมือนในการ์ตูนเรื่อง GTO เฮ้ย... อะไรเนี่ย อาจารย์คนนี้ !”
“แล้วหลังจากนั้นอาจารย์ก็เริ่มพูดถึงความสำคัญของอาชีพนี้ อาชีพนี้มันสร้างอะไร แล้วอาจารย์ก็เล่าว่า Master ของ Architect ของโลกชื่อหลุยส์ ซัลลิแวน เขาเป็นอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่มาก ทำให้เกิด Modern architecture วันหนึ่งเมื่อเมืองชิคาโก้มันเละมากแล้ว ลูกศิษย์ก็มาเข้าไปหา แล้วถามว่าจะย้ายไปไหนกันดี ซัลลิแวนกลับตอบว่า “ Stay here ! and Do something good ” ก็เหมือนเราแหละ เราสามารถทำได้ แล้วก็มาเข้าเรื่องที่ว่า ทำไม Material ถึงสำคัญ อาจารย์บอกว่า “ ถ้าผู้รับเหมาเอาไม้เต็งมาหลอกว่าเป็นไม้รัง ยูก็ไม่รู้ โง่ ชิบ ” เออ ... ก็จริงนะ แล้วท่านก็จะชอบเล่า นิทาน ชอบเล่าเรื่องแล้วให้เราตีความตลอดเวลา มันทำให้พี่ได้รู้สึกเป็นครั้งแรกว่า เออ ที่เรากำลังทำอยู่เนี่ย เราทำไปเพื่อจุดมุ่งหมายอะไรกันแน่ คำถามนี้สำคัญมาก ๆ”
“แล้วก็มีเรื่องหนึ่งที่ได้ฟังแล้วรู้สึกโอ้โห ! โดนซะเต็ม ๆ ก็มีศาสตราจารย์มาจากอเมริกา จบปริญญาเอกด้านข้าว จะมาสอนที่มหาวิทยาลัย ลงมาจากเครื่องบิน แล้วมานั่งแท็กซี่ต่อ ให้แท็กซี่ขับพาไปทางรังสิต มองไปเห็นต้นข้าว เขาก็ถามแท็กซี่ว่า นี่ต้นอะไร ? ตลกมะ อ่ะ!ต้องอธิบายต่อ มันเหมือนว่าคุณเรียนจบด้านข้าวมา แต่ไม่รู้จักต้นนี้ต้นอะไร สถาปนิกก็เหมือนกัน ถ้าแยกไม่ออกว่าวัสดุที่ต่างกัน มันต่างกันยังไง มันก็แปลก แล้วอาจารย์ก็พูดประโยคสุดยอดว่า “ถ้าคุณไม่เรียน กอ ไก่ ขอ ไข่ คุณจะเขียนเป็นคำได้ยังไง อย่าว่าแต่เป็นประโยคเลย แล้วก็ไม่ต้องพูดถึงโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนเลยนะ ” ตั้งแต่นั้นมาพี่ก็ตั้งใจเรียนมาตลอดเลย แต่ว่าทุกวันนี้พี่ก็ยังแยกไม้เต็ง กับไม้รังไม่ออกนะ ( หัวเราะ ) อาศัยถามรุ่นพี่เอา แล้วก็เจออาจารย์ที่สุดยอด ๆ มาตลอด”

Entertainer : พิธีกร ผู้ออกแบบความขำ
“ตอนแรกก็แปลกใจนะ ที่เอาสิ่งที่เรียนมาช่วยได้มากเลย เพราะคณะที่เรียนจะฝึกให้นักศึกษาต้องอธิบายความคิด ฝึกกันตั้งแต่ปีสองปีสามเลย คือมันเป็นการฝึกให้เราได้อธิบายและเรียบเรียงความคิด ซึ่งพอผ่านตรงนั้นแล้วก็ต้องออกไปรายงานหน้าห้องอีกที ทั้งหมดมันเป็นการฝึกโดยที่เราไม่รู้ตัว โดนฝึกอย่างนี้มาตั้งห้าปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก และสิ่งเหล่านี้ก็มาช่วยสนับสนุนในงานพิธีกร เพราะงานพิธีกรคือการเอาความคิดคนอื่นออกมาอธิบาย โดยที่เขาเป็นคนพูด การแสดงก็เหมือนกัน เราก็ต้องไปเป็นตัวละครตัวนั้น”

Imagine : จินตนาการอันเจือจาง
คมสันจำเป็นต้องอ่านหนังสือทุกวัน ถ้าไม่ได้อ่านขณะนั่งรถ ก็ต้องอ่านก่อนนอน ในกระเป๋าของเขาจะต้องมีหนังสืออยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นแมกกาซีน การ์ตูน วันนี้ในกระเป๋าของเขามีการ์ตูนเรื่อง galaxy 999 เป็นการ์ตูนเก่าที่เอามาทำใหม่ คมสันช่วยเปิดต่อมการ์ตูนให้กว้างขึ้น ว่าจริง ๆ แล้วมีการ์ตูนหลายแบบ ทั้งการ์ตูนสำหรับเด็ก แล้วก็การ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ การ์ตูนญี่ปุ่นเขาทำมาสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย การ์ตูนจะพาเราไปสู่ในโลกที่คิดว่าไม่มีอยู่จริง สำหรับคนที่มีอายุเกิน 20 ปี หนึ่งในการ์ตูนที่ประทับในความทรงจำ จะต้องมีเรื่อง “โดราเอมอน” อยู่ด้วย
“ตอนเด็ก ๆ เปิดลิ้นชักดูพยายามจะหายานแบบในการ์ตูนโดราเอมอน ประมาณว่ามันจะต้องมีโดราเอมอนอยู่ในลิ้นชักแน่ ๆ... ยังนึกเลยนะถ้าเด็ก ๆ ได้ดูเรื่องแฮรี่พอตเตอร์นะ เราต้องขี่ไม้กวาด ต้องพูดคาถา ต้องไปชานชาลาเก้าเศษสามส่วนสี่นี้ให้ได้ ไม่รู้มีใครทำกันบ้างมั้ย แล้วก็ต้องคิดว่าถ้าขี่ไม้กวาดมันต้องบินได้...แต่มันก็บินไม่ได้ มันเศร้าตอนไหนรู้มั้ย พอเราโตขึ้น เราไม่เชื่ออย่างนั้นแล้ว เออ! ทำไมตอนโตเราไม่เชื่อแล้วว่าในลิ้นชักมันมีไทม์ แมชชีน เศร้านะ เราเสียความไร้เดียงสา โตแล้วมีเหตุผลมากขึ้น มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เหมือนเพลงพื้นที่เล็กๆ ของบอย ตรัยน่ะ(บอย-ตรัย ภูมิรัตน) ฮึ ฮึ ฮึ”

Rhythm : จังหวะของตัวหนังสือ
คมสันเริ่มเขียนหนังสืออย่างเป็นทางการลงในหนังสือ “ช่อการะเกด” เรื่องสั้นของเขาเป็นหนึ่งในบรรดาหลาย ๆ ช่อ
เมื่อเครื่องเริ่มร้อน เอาอะไรมาหยุดไม่อยู่ เขาถูกทาบทามเป็นหนึ่งในนักเขียน “รวมเรื่องสั้นชุดสนามหญ้า” ต่อจากนั้นคงไม่ต้องสาธยาย มีงานหลั่งไหลเข้ามาให้เขียนไม่ขาดมือ ทั้งเขียนเอง และแปลเอง ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของเขาจะรู้ดีว่า เรื่องที่คมสันเขียนช่างเศร้าหม่น ไม่ตลกเหมือนเวลาเจอบนหน้าจอทีวีเลย…
“พี่รู้สึกว่าระยะหลัง ๆ นี้ นักเขียนรุ่นใหม่ ๆ บางคน ละเลยมากเรื่องการส่งต้นฉบับ ก็จะมีคนส่งเรื่องสั้น
มาให้ผมอ่าน บางครั้งก็สะกดคำผิด ย่อหน้า เคาะวรรคไม่ตรงผมจะหงุดหงิดกับเรื่องพวกนี้ มันรู้สึกว่าไม่น่าอ่าน ตัวที่พิมพ์ออกมา มันก็เคาะบ้าง ย่อหน้าตรงไม่ตรงบ้าง
“เราเขียนหนังสือเองก็จะรู้ว่าขึ้นย่อหน้าใหม่ทำไม จังหวะมันจำเป็นมาก เวลาเราอ่านหนังสือมันจะมีจังหวะส่วนตัวของเราอยู่อันหนึ่ง ลองสังเกตดูนักเขียนที่เก่ง ๆ เขาจะควบคุมจังหวะการอ่านเราได้ แบบพวกระดับเทพ เขาจะทำให้เราอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วก็ต้องหยุด เดี๋ยวตรงนี้เขาจะปล่อยหมัด เราจะรู้สึกได้เลย เราจะรู้สึกในจังหวะ อือ ฮื้อ... มันมาอย่างนี้แล้วก็ปัง!!! ให้เรารู้สึกเลย”
“ผมจะเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง ผมเป็นคนซีเรียสเรื่องการส่งต้นฉบับมาก จะต้องขอดูก่อน ถ้าลงเรื่องสั้น จะขอดูอาร์ตเวิร์ก เพราะว่าตอนแรก ๆ ที่เขียนเนี่ย มีครั้งหนึ่งเราขึ้นย่อหน้าใหม่ แต่คนจัดอาร์ตเวิร์ก จัดโดยไม่อ่านเรื่องของเรา เขาเอาย่อหน้าเราไปต่อคำสุดท้ายเนี่ย ที่ขึ้นย่อหน้าใหม่เพราะเรื่องมันหายไปแล้วสิบปี แต่พอมาอ่านมันเหมือนเรื่องนี้ต่อกัน พี่โมโหแบบ.... สุด ๆ เลย(ทำสีหน้าโมโหผู้ทำการสัมภาษณ์ราวกับว่าเป็นคนจัดอาร์ตเวิร์กคนนั้น) เขาทำเรื่องเราแบบว่าชิบ...เลย หรือบางทีก็มีทำประโยคสุดท้ายของเรื่องหายไป ซึ่งมันเป็นความสำคัญของการเขียนหนังสือ ประโยคสุดท้ายอันนี้ มันจำเป็นต่อเรื่องมาก!!! หลัง ๆ เราก็จะขอตรวจ แต่ก็มีผิดอยู่ดี หนังสือส่วนใหญ่ก็จะตรวจเอง ถ้ามีคนตรวจคำแล้วก็จะขอตรวจอีกรอบ อันนี้ไม่ได้เลย เพราะจังหวะมันสำคัญมาก”

Ghost : คนกลัวผี
“ผมเป็นคนกลัวผีมาก ไม่เคยเจอ แต่กลัว กลัวขนาดไม่ดูหนังผี ถ้าเป็นหนังสือแล้วมันดีจริงก็ต้องอ่าน แต่ไม่ค่อยอ่านหรอก อย่างหนังสือ เดอะริง(คำสาปมรณะ) หรืออะไรประมาณนี้จะไม่เคยได้ตังค์จากผมเลยนะ แต่ถ้าเป็นแนวฆาตกรรมอันนี้จะชอบ หนังเรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ พี่ก็ไม่ดู ล่าสุดดู กระสือวาเลนไทน์ ดูเพราะชอบพี่ต้อม(ยุทธเลิศ สิปปภาค) ก็ยังต้องปิดตา รอดูตอนตลก ๆ แล้วก็ไม่ค่อยไปไหนคนเดียว เพราะพี่กลัวผี”

Travel : 2 เท้ากับกระเป๋า 1 ใบ
“ชอบเที่ยวมาก เพิ่งไปหลวงพระบางมา ดีนะ ไม่แพงด้วย ที่ชอบเพราะเรายังพอเห็นความเป็นของเก่าอยู่ มันก็เริ่มเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงให้เราเห็นแล้ว แต่เราก็ยังมีรู้สึกว่าก็ยังเป็นของเขาอยู่นะ คนที่นั่นเขาก็ยังน่ารักอยู่ รู้สึกว่าอยู่หลวงพระบางแล้วไม่ต้องกลัวใครโกงเรา อย่างเวลาจะเรียกรถไปไหน ก็ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะโกง หรือเวลาเดินเที่ยว เราจะรู้สึกว่าของไม่หายแน่ ที่นั่นเขายังเป็นอย่างนี้อยู่เลยนะ"
"แล้วที่ชอบที่สุด เป็นช่วงปีใหม่ คืนวันที่ 31 ที่มีการ countdown กัน คนลาวเขาไม่ตื่นเต้นเลยนะ มีแต่ฝรั่งกับคนไทยที่จะไปฉลอง ก็ถามคนเขาว่าทำไมเหรอ เขาก็บอกมาว่า ปีใหม่เขาเป็นวันสงกรานต์ เนี่ย ! เจ๋งมั้ย
เจ๋งมาก ขนาดเวลาของโลกยังไปหมุนเขาไม่ได้เลย แต่ก็จวนแล้วล่ะ เริ่มมีสัญญาณแล้ว เริ่มมีเสื้อกล้าม แต่เขายังไม่มีสายเดี่ยวนะ เริ่มมีจิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋ มีฮิฟ-ฮอฟ”

Time Mashine : วันวานอยากให้หอมหวาน
“อยากกลับไปพรีเซ้นต์ Thesis ใหม่ งานนี้เป็นเหมือนวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษา เป็นงานใหญ่ของเด็กสถาปัตย์ทุกคน ผมทำเรื่องพิพิธภัณฑ์เด็ก คล้ายๆอุทยานแห่งการเรียนรู้ สำหรับการเรียนรู้ของเด็กด้วยการเล่น ซึ่งวันที่ได้พรีเซ้นต์ รู้สึกว่าพูดไม่ดีเลย ก่อนหน้านั้นมันอดหลับอดนอน ไม่มีแรงจะพูด พูดไปก็ไม่รู้เรื่อง อาจารย์ช่วยถามก็คิดไม่ทันอีก พอพรีเซ้นต์เสร็จ อ้าว ! อาจารย์ถามช่วยนี่... อยากกลับไปทำใหม่มาก”
“เหตุการณ์นี้ถึงกับเก็บเอาไปฝันเลยนะ ทุกวันนี้ยังฝันอยู่เลย ไปถามเพื่อนทุกคนก็ไม่มีใครไปฝันแบบนี้ ผมชอบฝันว่าตัวเองเป็นนักเรียน เดินเข้าไปที่คณะเห็นเขาทำ Project กัน เราก็เฮ้ย!!! ไม่เห็นรู้เรื่องเลย เอาแล้วต้องไปซื้ออุปกรณ์ แล้วก็ตกใจตื่น เดินไปหาโต๊ะเขียนแบบ ไม่มี เฮ้ย! อ๋อ... เราเรียนจบแล้ว เราเรียนจบแล้ว โห! เหมือนขึ้นสวรรค์ ยังฝันแบบนี้อยู่เลยประมาณ 3 เดือน/ครั้ง มันเครียด มันฝังใจมาก แต่เราก็ผ่านมาแล้ว เหมือนกับยกภูเขาออกมาจากอก”

Tomorrow : วันพรุ่งนี้ของคมสัน นันทจิต
ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำแต่ละวันให้มันดี แล้วทุกอย่างจะดีเอง หลาย ๆ คนนิยมชมชอบคตินี้ แล้ววันพรุ่งนี้ มะรืน เดือนหน้า อีกสิบปีล่ะ…
“สมัยก่อนไม่เคยคิดเลยนะ สมัยเมื่อสองสามปีที่แล้วมีคนมาสัมภาษณ์ ก็บอกไปว่าผมเป็นคนไม่มีอนาคต ไม่เคยคิดถึงอนาคตเลย มาตอนนี้ก็ตั้งใจจะผ่อนบ้านให้แม่ เป็นภารกิจที่ต้องทำให้หมด มาคิดได้ตอนดูพระราชดำรัสของในหลวง เออ เนอะ...เศรษฐกิจพอเพียงก็น่าจะดีนะ แล้วพอดีผมได้ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง มันมาลบล้างความเชื่อที่เรามีอยู่ทั้งหมดเลยนะ เป็นหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านบอกว่า ที่เราชอบพวกฟังเพลง ดูงานศิลปะเนี่ยเหมือนเรากำลังเฉือนเนื้อเรากินอยู่ เพราะว่างานพวกนี้เราต้องทำความเข้าใจ เราก็คิดกันว่ามันดี เหมือนเราฟังเพลงแจ๊ส แรกแรกเราอาจไม่เข้าใจหรอก ว่าจริง ๆ แล้วมันดียังไง เขาทำอะไรได้ยังไง เราก็ต้องไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วถึงจะอ๋อ... มันเพราะเรื่องมันอย่างนี้นี่เอง"
"จริง ๆ แล้วเราเหมือนกำลังเดินทางเข้าไปสู่มายา มันเป็นกิเลสที่หลอกเราไปเรื่อย ๆ ซึ่งเอาเข้าจริงๆผมก็ยังเลิกไม่ได้หรอก แต่มันก็เออ...แปลกดี อยู่ ๆ มีคนมาบอกเราอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง สมมติผมตายไป แผ่นเสียงที่บ้านมันจะเป็นของที่ไม่มีค่าเลย แต่มันมีค่ามากนะ แล้วค่าของมันอยู่ที่ไหน อ๋อ!!! เราก็ต้องเอาไปบริจาคใชมั้ย แผ่นเสียงนี่เป็นอีกอย่างที่บ้ามาก เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ซื้อแล้วล่ะ ไม่มีตังค์ ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี่ซื้อแหลก”
sketch : ออกแบบชีวิต?
“ออกแบบชีวิตหรอ... ครึ่ง ๆ นะ อย่างเรื่องของผมมันเป็นเรื่องของจังหวะ มันไม่ใช่เรื่องของความฝัน มันเป็นจังหวะของชีวิต ตอนนั้นพี่วิทวัส สุนทรวิเนตร จะทำรายการพอดี(ตีสิบ) ผมก็ไปทำกับเขา ทาง JSL ต้องการพิธีกรก็ไปทำ ผมไม่ได้เดินตามความฝัน ไม่เคยฝันว่าสักวันจะต้องเป็นพิธีกรให้ได้ ต้องได้รางวัลในการแสดง(นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่องรักออกแบบไม่ได้) มันเป็นจังหวะของมันไปเรื่อย ๆ
แต่จริง ๆ อันนั้นก็ต้องเป็นความสนใจของเราด้วย เป็นการฝากสะสมเอาไว้ครึ่งหนึ่งตั้งแต่ยังเด็ก ๆ เป็นทุนครึ่งหนึ่ง ในตัวเรามันต้องมีความสนใจที่จะทำอย่างนั้นอยู่ ไม่ใช่ว่าพอถึงจังหวะที่เราจะเปลี่ยน เราก็จะเปลี่ยนได้โดยไม่ได้ฝากตรงนั้นไว้"
"เหมือนการเป็นนักเขียน ถ้าตอนนั้นที่เพื่อนมาชวนเขียนหนังสือ แต่ถ้าเราไม่ได้เขียนเรื่องสั้นเก็บไว้ ก็คงจะไม่มีเรื่องให้เพื่อน และถ้าไม่ได้ลงเล่มนี้ เราก็ไม่ได้ลงเล่มนั้น แล้วก็จะไม่ได้เป็นคอลัมนิสต์ ทุกอย่างมันเป็นจังหวะหมด เพราะว่าเราชอบทางนี้อยู่แล้วไง ก็เลยสามารถทำได้ทันที เมื่อโอกาสมาถึงเราก็จะรู้เลยว่าอะไรทำได้ ไม่ได้”

ใครที่ยังไม่เริ่มฝากอะไรเพิ่มเติมใส่ธนาคารชีวิต วันนี้ยังไม่สาย หมั่นฝาก เพียรสะสม แล้วดอกเบี้ยก็จะออกดอกงอกงาม


ข้อควรรู้ : ธนาคารนี้ไม่รับทำการโอนทุกกรณี โอนให้กันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จัก หรือคนรู้ใจ.

อังกูร ทองสุนทร ความเลือนรางที่ชัดเจน


เรื่อง...ขนิ-โต และกองกำลังปั้นฝันฯ




จุลสาร TK park เล่มที่ 23 เดือนเมษายน 2550
คอลัมน์T-Talk





หากวันหนึ่ง คุณตื่นขึ้นมาพร้อมกับความเลือนรางพร่ามัว
ความเปลี่ยนแปลงที่ใครก็ยากจะยอมรับได้
จากความอ่อนแอทางร่างกาย ลุกลามไปถึงจิตใจ …




หากนั่นเป็นเพียงความฝัน เมื่อเราถูกปลุกให้ตื่นจากความฝัน แสงสีส้มทองของดวงตะวันในยามเช้าจะยังปรากฏเบื้องหน้าเราอีกครั้ง



แม้เช้าวันนี้ของอังกูร ทองสุนทร หรือ แฮ๊ค จะมีกลุ่มเมฆหมอกเข้ามารบกวนสายตา ทำให้เปิดรับสีสันได้ไม่เต็มที่ เฉดสีลดทอนปริมาณความสดและความต่าง แสงสีส้มทองของตะวันที่สะท้อนเข้าตากลายเป็นสีในความทรงจำวันเมื่อวาน



แต่เช้าวันนี้ ในช่วงแต่ละวันของชีวิตเขาแทบจะไม่แตกต่างหรือผิดแปลกไปจากมนุษยชนทั่วไป ที่มักใช้เพียงประสาทสัมผัสตา ในการดำรงใช้ชีวิต...

ภาค : กายภาพ



ศิลปะกับการมองเห็น
“เมื่อก่อน ชอบเรียนเขียนรูป ก็ชอบเกี่ยวกับศิลปะ อยากเป็นพวกนักออกแบบ ดีไซเนอร์ พอเรียนจบ ปวช.(สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล) ผมก็ไปสอบในระดับอุดมศึกษา แต่เรียนต่อไม่ได้ เพราะสายตาบกพร่องทางการมองเห็น มองเห็นเพียงเลือนราง เลือนรางคือ เวลามองมันจะเหมือนมีหมอก ระยะการมองเห็นจะไม่ปกติ คือคนปกติ อาจจะใส่แว่น แล้วอาจช่วยให้ดีขึ้นได้ แต่ผมเนี่ย คือใส่แว่นแล้วก็ยังมองเห็นไม่ชัดอยู่ดี ถ้าเกิดใช้กล้องส่องทางไกล แม้จะช่วยดึงภาพให้เข้ามาใกล้ได้ขึ้นจริง แต่จะไม่มีความคมชัด ไม่สามารถช่วยอะไรได้ คือจะเหมือนมีหมอกอะไรบัง อาการที่ผมเป็น เขาเรียกว่าประสาทตาเสื่อม จัดอยู่ในกลุ่มคนตาบอด ประเภทเห็นเลือนราง”
“ก็เลยพักอยู่บ้านประมาณ 7-8 เดือน แล้วในระหว่างนั้น ก็คุยกับแม่ว่าถ้าอยู่บ้านอย่างนี้ไม่ไหวแน่เลย รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าอะไรเลย อยู่บ้าน ฟังวิทยุ เล่นกีตาร์ วนเวียนอย่างนี้เกือบทุกวัน ก็ไปบอกกับแม่ว่าผมเคยเห็นคนตาบอดที่เขาเรียนหนังสือได้นะ แม่ก็เลยพาไปที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้เริ่มฟื้นฟู รู้จักเครื่องมือเครื่องไม้ อักษรเบลล์ เริ่มเห็นคนตาบอดที่เขาใช้ชีวิตได้จริง ก็ทำให้รู้สึกว่ายังมีคนที่เขาแย่ยิ่งกว่าเรา เขาไม่เห็นมาตั้งแต่เกิดด้วยซ้ำ แต่เขายังใช้ชีวิตอยู่ได้เลยนะ แล้วเราล่ะ ทำไมเราไม่สู้ล่ะ คือใจมันออกมาในระดับหนึ่งแล้ว พอยิ่งมาเห็นแบบนี้ ก็ยิ่งรู้สึกว่า เราก็ทำได้นะ”

วันที่พ่อเริ่มปล่อยมือ...
“ตั้งแต่เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา เวลาไปไหนพ่อก็ต้องคอยไปส่งไปรับ จนถึงช่วงเริ่มเรียนคณะมนุษยศาสตร์ เอกการศึกษาพิเศษ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ก็เริ่มรู้สึกว่า ชีวิตเราไม่ใช่แบบนี้นะ ต้องทำเอง ต้องเที่ยว ต้องไปเจอสังคม ต้องไปเจอคนข้างนอก ก็เลยบอกกับพ่อว่าเดี๋ยววันนี้จะไปเที่ยวกับเพื่อนข้างนอก ไม่ต้องไปรับไปส่งแล้วนะ ก็เหมือนเริ่มพัฒนาตัวเอง เริ่มปรับตัวไปด้วย แต่ถ้าถามว่าอันตรายไหม มันก็ต้องมีล้มกันบ้าง ถึงจะเรียนรู้กัน”

ศิลปะกับการมองไม่เห็น
“ศิลปะอีกแขนงที่ผมจะสัมผัสตรง ๆ ได้ ก็คือ ดนตรี ก็เลยเริ่มฟัง เริ่มร้อง เริ่มเล่น บวกกับมีโอกาสได้ไปสัมผัสกับคนที่คร่ำหวอดทางด้านนี้โดยตรง อย่างตอนเรียนก็ไปทำงานค่ายศิลปะ art for all ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ค่ายนี้ก็ทำให้ได้รู้จักคนเยอะขึ้น อย่างเช่น ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน แล้วก็เริ่มไปรู้จักการเล่นละครเวที การร้อง เล่น เต้น ไปช่วยงานให้กับสมาคมคนตาบอดฯ ก็จะมีกิจกรรม ตามเวทีต่าง ๆ ตามศูนย์วัฒนธรรมบ้าง ก็มีคนพาไปรู้จักทาง สถาบันดนตรี Genx Academy อีก ก็เลยได้ไปร้องเพลงในอัลบั้ม Experiment 1 หลังจากนั้นก็มีมาคนมาชวนไปทำรายการทีวี เป็นสกู๊ปสั้น ๆ ก็เหมือนเป็นโอกาสให้เราได้สัมผัส แล้วตอนที่พี่อุ้ม สิริยากร พุกกะเวช ได้ไปออกรายการเจาะใจ ตอนที่ปิดตา เรียลลิตี้ ผมก็มีโอกาสก็เป็นวงที่เล่นให้พี่เขา บวกกับตอนนั้นพี่อุ้มทำโครงการ หางานให้คนตาบอด พี่อุ้มก็เลยแนะนำให้มาทำงานที่นิตยสาร DDT เขียนคอลัมน์ชื่อดีเดย์และมิวสิค รีวิว ครับ”
“แต่ว่าก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ว่าเราจะทำอะไรแบบนี้อย่างเดียวนะ ช่วงว่างก็มี ว่างจริง ๆ แบบไม่ได้ทำอะไร ก็นั่นแหละ การว่างก็เป็นการพักผ่อน ได้ถามตัวเองว่าชอบอะไร ก็ลองคิดว่า เราก็มีสมองนะ เขียนหนังสือบ้าง ทำหนังสือทำมือ เคยเป็นครูสอนต่างจังหวัดด้วย สอนหนังสือคนตาบอดตามต่างจังหวัด ไปเป็นเดือน ๆ จบที่หนึ่งก็ไปอีกทีหนึ่ง แต่ว่าเราก็ถามตัวเองว่าเราชอบหรือเปล่า คือมันก็เป็นประสบการณ์จริง เป็นรสชาติชีวิต แต่จะให้ทำอย่างนี้เรื่อย ๆ ก็บอกว่าไม่ชอบนะ ขอรู้จักอย่างอื่นก่อนดีกว่า”

กีฬาโบว์ลิ่ง -- ใจสำคัญกว่าตา
“ผมเล่นกีฬาโบว์ลิ่งมา4-5ปีแล้วครับ เรื่องนี้มันก็เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างหนึ่งนะ เมื่อก่อนตอนผมตาดี ก็ไม่เคยเล่นนะ ไม่กล้า อาย กังวลว่าเวลาโยนควรจะทำท่าทางยังไง คนรอบข้างเขาก็เล่นกันท่าสวย ๆ จนวันหนึ่งมีโอกาสไปเล่นโบว์ลิ่งกับเพื่อน เพื่อนเล่นกันไป ส่วนเราก็นั่งดูเขาเล่น ก็คิดขึ้นมาว่าทำไมเราไม่ได้เล่น ทั้ง ๆ ที่เราก็นั่งอยู่ เราก็มองเห็นพิน ก็เลยลองเช่ารองเท้ามาแล้วก็ลองโยนดูบ้าง พอได้เล่นก็...เอ้ย! ไม่เห็นมีอะไรยากเลย ถ้าใจคิดจะทำอะไรสักอย่างมันก็ต้องทำได้ แล้วเล่นดีกว่าเพื่อนอีกด้วย เพื่อนก็ถามว่า มองเห็นพินด้วยเหรอ ก็เห็นเหมือนกันนะ เห็นเป็นพินลางๆ จับทางได้ก็พอรู้ว่าต้องโยนไปทางไหน กีฬาโบว์ลิ่งเป็นกีฬาใหม่ของคนตาบอด ก็เลยได้คุยได้สัมผัส มีการคัดเลือกแข่งขัน แข่งระดับประเทศ แข่งระดับชาติต่อไป ก็ล่นมาเรื่อย ๆ จนได้เป็นนักกีฬาโบว์ลิ่งตาบอดทีมชาติ แล้วก็ได้ไปแข่งที่มาเลเซีย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้เล่นเพราะต้องซ้อมดนตรีกับเพื่อน ๆ ในวงครับ”

วงดนตรี IONION ความฝันที่ถูกทำให้เป็นความจริง
“วงดนตรี IONION เป็นวงดนตรีคนตาบอดวงหนึ่ง รวมคนที่มีความฝันอย่างเดียวกัน พวกเราชอบดนตรี อยากมีอัลบั้ม แต่เราอยากจะเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนทัศนคติ คนในสังคม อยากให้มองคนพิการ คนตาบอด ในทัศนคติที่ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าพอพูดถึงคนตาบอด ก็จะมองว่าคนกลุ่มนี้ด้อยค่า ไร้ประโยชน์ ในปัจจุบันนี้คนตาบอด จบในระดับปริญญาตรี ค่อนข้างเยอะ แต่พวกเขาขาดโอกาส ขาดความเข้าใจในการทำงาน ซึ่งจุดนี้ วงดนตรี จะเป็นตัวทำความเข้าใจ สื่อให้คนทั่วไปเห็นว่า คนตาบอดก็ทำอะไรได้นะ คือในวงแต่ละคนก็มีหน้าที่ มีงานประจำทำต่างกันไป นี่คือเรียกว่า เป็นงานที่ช่วยสื่อสารให้กับสมาคม”
“ผมและเพื่อน ๆ อีก 3 คนในวง ก็ไม่ใช่ว่าเก่งหรือวิเศษมากกว่าเพื่อน ๆ คนอื่นนะครับ เพียงแต่ว่าพวกเรา มีโอกาสที่ดีกว่าเท่านั้นเอง พวกเราพยายามหัดเล่นนู่นนี่ พยายามค้นหาตัวเอง ทำนู่นทำนี่ ทำทุกอย่าง หาตัวเองว่าชอบอะไร ฝันอะไร แต่ไม่ใช่ว่าเราฝัน แล้วปล่อยให้มันเป็นแค่อากาศ เราต้องพยายามสร้างมันด้วย สร้างมันจนสำเร็จ ถึงสร้างแล้วจะไม่มีคนสนใจ แต่เราก็สร้างต่อไป เผื่อว่าสักวันหนึ่งเมื่อโอกาสมันยื่นมา เราจะได้แสดงผลงานที่เรามีให้เขาเห็นได้อย่างชัดเจน”

ภาค : จิตใจ

เพลงด้านที่ 9 --- หาก 8 ด้านยังมืดมน ลองค้นมองหาด้านที่ 9

“อยากสื่อถึงทุกคนที่หมดกำลังใจ หมดความหวัง หมดทุกอย่าง อย่างตาบอด ถ้าเข้าใจ แล้วก็ไม่อาย ผมว่าสังคมเดี๋ยวนี้เปิดกว้างขึ้น เปิดโอกาสให้เขาออกมาได้ทำอะไร รวมทั้งตัวเขาเองด้วย ถ้าตัวเขาปิดโอกาสตัวเอง คือมันมีนะ คนที่รู้จักมา เก่ง แต่ตาบอด คือเมื่อเขาอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย ก็รู้สึกเสียดายความสามารถเขา ก็เลยอยากสื่อออกไปว่าให้ออกมาดีกว่า ด้านที่ 9 รอคุณอยู่นะ”

กองกำลังใจ...
“สำคัญที่สุด ก็คือ ตัวเองและคนรอบข้าง เขามักจะโดนตีกรอบไปแล้ว ว่าเขาหมด เขาไม่มี
ความสามารถ คนตาบอดหลาย ๆ คน ที่เขาไม่เห็น เขามืดไปแล้ว เขาก็ไม่รู้ว่าสายตาคนที่เขานั่งคุยด้วยเป็นยังไง น้ำเสียงเป็นยังไง แต่เมื่อไม่มีมา เขาก็ไม่รู้ว่าคนรอบข้างรู้สึกยังไง แต่พอได้พูดคุย เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ถ้ามีบางสิ่งบางอย่างผมแสดงความคิดเห็นไป แล้วมีคนตอบกลับมาว่า เฮ้ย...ดี คิดได้ยังไง ความสนใจตรงนี้ เป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้น คนรอบข้างก็ต้องเข้าใจไม่ใช่ว่าไปคิดแทนเขา บางทีคนไม่รู้ ไปคิดแทนว่าทำอะไรไม่ได้หรอก อย่างให้ทำ ลำบากเปล่า ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นการคิดแทน
สำคัญก็คือ เราเองด้วย ในปัจจุบันนี้ ช่องทางโอกาสมีเยอะ มีศูนย์การศึกษาพิเศษ มีที่ให้คำปรึกษาเยอะ แต่เขาก็ไม่กล้าออกมา ไม่พัฒนาตัวเอง ไม่ใช่ว่าโทษสังคมอย่างเดียว ส่วนหนึ่งก็ต้องโทษด้วยว่าเราไม่พัฒนาตัวเอง จมปลัก ย่ำอยู่กับที่ คือเรื่องแบบนี้ มันก็ต้องทั้งสองฝ่าย อย่างผมมาทำงานที่นิตยสาร DDT ทำงานกับพี่เต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ก็ไม่ต้องคุยอะไรมาก เห็นว่าทำได้ก็รับผิดชอบไปสิ ไม่ถูกใจก็โดนดุนะ ไม่ใช่ว่าไม่เป็นไรนะ เข้าใจว่ามองไม่เห็น เราก็ต้องโดนดุ เพื่อพัฒนาตัวเองไปด้วย พอเราเข้าใจกัน เราก็จะทำงานได้อย่างราบรื่น

ภาค : มันส์สมอง

สติมาปัญญามี
"ช่วงที่ผมอยู่บ้านเฉย ๆ นอกจากจะฟังเพลงแล้ว ก็จะฟังธรรมะในวิทยุคลื่นเอเอ็มด้วย บางครั้งเราต้องมีสติไง พอมีสติแล้วมันก็เกิดปัญญา เราก็คิด เออ...มันก็จริงนะ ถ้าเกิดเรามัวแต่อารมณ์เสีย มัวแต่อาละวาด ทำอะไรรุนแรง คนที่เดือดร้อนมากที่สุดก็คือ คนใกล้ตัวเรา ครอบครัว แล้วก็ตัวเราเองด้วยที่ต้องเครียด แต่พอเป็นแบบนี้ก็รู้สึกว่า ใจเย็นลง สามารถรอได้ แต่ก็มีบ้างนะ ที่มันอึดอัด แต่มันเป็นเหมือนอาการคัน เกา ๆ หน่อยก็หาย ถามว่าแตกต่างจากเมื่อก่อนมั้ย ตอนนี้เราก็จะใจเย็นลง คิดอีกมุมหนึ่ง เมื่อก่อนนี้เราจะโทษคนอื่น แต่ปัจจุบันเราจะลดตรงนั้น มองตัวเองมากขึ้น เราอาจจะทำไม่ดีจริงนะ เขาถึงว่า คือใจเย็นลง มองตัวเองก่อนที่จะว่าคนอื่น"

สมอง...อวัยวะ Super สำคัญ
"แล้วเวลาผมเขียนงาน สิ่งที่ผมใช้สื่อสารได้ คือใช้คอมพิวเตอร์ แล้วมีวันหนึ่งผมแขนขวาหัก แขนหักแล้วยังตาก็ไม่ดีด้วย หักไปเดือนหนึ่ง รู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย ขาดมือขวาไป เขียนอะไรก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ แล้วคิดอีกว่า ถ้าวันหนึ่งเราขาดสมองขึ้นมาล่ะ คงตายเลยนะ จะบอกว่าไอ้สิ่งที่เราเป็นอยู่คือสายตาที่มันไม่ดีนี้ มันเหมือนเป็นสิ่งที่น่ารำคาญเท่านั้นเอง เหมือนโดนมดกัด โดนยุงกัด มันน่ารำคาญ แต่พอเราแก้ปัญหาได้ เหมือนเราเกาถูกจุด เหมือนกับมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรมาช่วยเรา"


เช้าวันพรุ่งนี้.... แสงสีส้มทองจากดวงอาทิตย์ อาจจะไม่ได้มองเห็นได้ด้วยสายตาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแล้ว...

ธรรมชาติมุมช่างภาพมอง : ยุทธนา อัจฉริยวิญญู


เรื่อง...ขนิ-โต

จุลสาร TK park เล่มที่ 21 เดือน มีนาคม 2550
คอลัมน์ T-Talk

“ช่างภาพเป็นไม่ยากหรอก แต่ว่าการจะเป็นช่างภาพที่จริง ๆ จัง ๆ น่ะ... ยาก”
ยุทธนา อัจฉริยวิญญู : บรรณาธิการภาพ นิตยสาร NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย
อายุการทำงานกับกล้องถ่ายรูป 14 ปี จับมาแล้วทั้งฟิล์มและดิจิตอล

ช่างภาพอาจไม่จำเป็นต้องรู้ว่าป่าไม้ในเมืองไทยเป็นป่าไม้เขตร้อน ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าป่าใหญ่ในโลกแบ่งเป็น 3 โซน อยู่ที่ประเทศอินเดีย ประเทศบราซิล และฝั่งประเทศไทย พม่าเวียดนาม ลาวและอินโดนีเซีย
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าช่างภาพจะรู้ จะเข้าใจ และหลงใหลสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ธรรมชาติ”

เที่ยวธรรมชาติ…
ปกติเป็นคนป่าอยู่แล้ว แล้วเมื่อก่อนชอบไปพักผ่อน แล้วก็ไปหลงรักป่า ไปกินอยู่ในป่า แล้วก็เริ่มเห็นสัตว์ป่าถูกทำร้าย ถูกรังแกอยู่เรื่อย ๆ ป่าในดวงใจ คงจะเป็นทุ่งใหญ่นเรศวร กับห้วยขาแข้ง เพราะเป็นบ้านของสัตว์ป่าที่ยังอบอุ่น ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่เยอะ เวลาเจอสัตว์ป่า ก็พยายามคุยกับเขาบ้าง ให้เขารู้ว่าเราเป็นมิตรกันในมือคือกล้อง ไม่ใช่ปืน หรือบางทีก็พูดคุยกับต้นไม้
เมื่อ 3 ปีที่แล้วก็เริ่มทำร้านอาหารเล็ก ๆ แถว ๆ ถ.นวมินทร์(ร้าน Inside Jungle) ทำขึ้นมาเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือเกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น เจ้าหน้าที่ที่ดูแลป่าไม้ซื้อของใช้ที่จำเป็น เช่น ผ้าห่ม หรือ สัตว์ป่าที่ถูกทำร้าย ในร้านก็จะฉายสไลด์ตลอด จะเป็นภาพสัตว์ป่า จัดอบรมถ่ายภาพฟรี แต่ตั้งแต่มาทำที่นิตยสาร NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย ก็ปิดไปเพราะไม่ค่อยมีเวลา แต่ก็คิดว่าวันหนึ่งจะทำร้านแบบนี้อีก

ช่างภาพ กับ ป่าไม้…
ด้วยเราชอบเข้าป่าอยู่แล้ว พอเขาสั่งงานที่เกี่ยวกับป่ามา ก็ทำให้มีทักษะอยู่บ้าง แต่ว่าถ้าไม่เคยเที่ยวมาก่อน ก็อาจจะไม่รู้ว่าเวลาคุณเดินเข้าป่าไปจะเจอทากเล็ก ๆ เจอเห็บตัวเล็ก ๆ ที่สามารถกัดแล้วคันทั้งปี เจอทางเดินแย่ ๆถ้าเป็นช่างภาพที่ไม่เคยเข้าป่ามาก่อน ก็อาจจะรู้สึกว่ามาทำไม แต่สำหรับตัวเอง ตั้งแต่เชื้อโรคยันดวงดาวอะไรก็ได้
เสน่ห์ของธรรมชาติ…
เสน่ห์ของธรรมชาติ อยู่ที่ไม่ต้องทำอะไร เพราะธรรมชาติ คือ ธรรมะ ธรรมะ คือ ธรรมชาติ พระพุทธเจ้าก็เรียนรู้มาจากคำว่า ธรรมชาติ การได้ไปอยู่ในโลกใบที่ช่วยขัดเกลาจิตใจให้เราสามารถยืนอยู่บนความเที่ยงตรง ไปขัดเกลากิเลสออกด้วยใบไม้ ด้วยแม่น้ำสายใหญ่ ด้วยลำธาร คล้าย ๆ กับไปล้าง พออยู่แบบนี้(ตามวิถีชีวิตของคนเมือง)เห็นอะไร ๆ ก็รู้สึกว่าสวย งาม เช่น ยามของกะเหรี่ยง เขาใช้กันอย่างนี้นะ แต่ทำไมอยู่ในเมืองไม่ใช้กัน ก็มันไม่เหมาะ ก็เลยมองกลับมาดู มาเรียนรู้จากโลกแห่งความจริง
ภาพกลางป่าบันทึกอยู่ในการ์ดความทรงจำ…
ผมเจอสัตว์อะไรก็ชอบหมดแหล มีที่ไปทุ่งใหญ่นเรศวร (เขตอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก) ไปถ่ายวัวกระทิงมา ที่ถ่ายได้เพราะว่ามันยังเด็กอยู่ พอเห็นเราก็ค่อย ๆ เดินเข้าไป ซึ่งถ้าโดยปกติวัวพวกนี้ก็คงจะเดินหนีเราไปแล้ว แต่นี่เขามีลูกด้วยก็เลยทำให้เดินช้าหน่อย ก็ได้ภาพครอบครัววัวกระทิง พ่อแม่ลูกกลับมา แล้วก็มีถ่ายวัวแดง ซึ่งคนจะชอบสะสมกัน วัวแดงนี่ส่งเข้ากรุงเทพฯหัวละ 50,000 บาท นายพรานที่ล่าไปได้ 10,000 บาท ของพวกนี้ผมไม่เห็นว่ามันมีค่าอะไรเลย แม้กระทั่งงาช้าง เคยไปเจองาช้างในป่า รูปร่างคล้าย ๆ รากฟัน เป็นโพรง เป็นซาก ก็ลองจับดู มันเป็นก้อนแป้ง ๆ รูปหัวใจ พอดูแล้วก็ปาออกไปสุดแรง ให้มันอยู่ในป่านี้ดีกว่า
ธรรมชาติลดความสมบูรณ์
ถ้ามองแบบเชิงลึกเลยนะ มนุษย์เราไม่สามารถที่จะหยุดอะไรได้ด้วยตัวเอง เราเดินเข้าไปหาความวิบัติอย่างช้า ๆ มีช่วงหนึ่งผมจะเข้าไปเก็บขยะในป่า ไปคนเดียวด้วยนะ พอไปถึงจุดหมายปลายทาง ขยะเต็มรถเลย ก็มาคิดว่าในความเป็นจริง เราไม่สามารถที่จะไปทำแบบนั้นได้หรอก แต่ถ้าได้ไปทำอะไรแบบนั้นปีละครั้งมันก็สนุกดีนะ ก็มาคิดว่าเราไม่ต้องไปสอนคนอื่น แต่เราจะทำยังไงกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ มีครั้งหนึ่งผมเจอเด็กกำลังยืนยิงนก ผมก็เดินเข้าไปบอกเขาว่ารู้รึเปล่าว่าลูกเขาอาจรอแม่อยู่ที่บ้านก็ได้ ลูกที่บ้านเขาจะเป็นยังไง เขาก็แปลกใจ พ่อแม่เขาไม่เคยสอนแบบนี้ สอนแต่ว่าเติบโต ใช้ชีวิต มีเงินทอง ไม่เคยสอนว่าไม่ให้ทำร้ายชีวิตใคร ผมเห็นตั้งแต่เขายิงนก ถอนขน ๆ นำน้ำมันใส่กระทะ พอทอดเสร็จ นกตัวเมียก็มายืนอยู่ข้าง ๆ กระทะ นั้น บินวนรอบ ๆ ผมก็บอกให้เขาเรียนรู้กับสิ่งที่เขาเห็นเลยดีกว่า พอถามเขาว่าอร่อยมั้ย ที่บ้านไม่มีหมูเหรอ เขาก็ตอบว่ามี แต่ที่ทำไปเพราะความคะนอง และทุกวันนี้เด็กคนนั้นขาขาด เพราะมอเตอร์ไซต์ล้ม
การโต้กลับของธรรมชาติ
อย่างเหตุการณ์สึนามิก็เป็นการเอาคืน ผมไม่ใช่นักวิชาการ แต่ผมเห็นมันว่าที่เป็นแบบนี้เพราะ เราไปทำลายป่า ไม่มีรากให้คอยยึดกับผิวดิน พอฝนตกลงมาแรง ๆ มันก็ไหลเป็นน้ำป่า เป็นน้ำโคลนถล่มมา พอน้ำท่วมที่ตรงนี้สัตว์มันก็หนีไปอยู่อีกทีหนึ่ง ไปเจอเจ้าถิ่นเข้าก็เกิดการแย่งพื้นที่กัน สู้กัน มันก็ตาย ผมคิดว่ามันเป็นวงจรของธรรมชาติที่กำหนดให้เป็นแบบนี้ เหตุการณ์สึนามิที่ตายกันไปเพราะอะไร ก็เพราะเราไปอยู่ใกล้ทะเลมากเกิน ถ้าเราไม่อยากรู้จักสึนามิเราก็ถอยห่างออกมาสิ
ไฟป่า
ต้นเต็งรัง พอถึงหน้าหนาวเขาจะต้องใช้น้ำน้อยที่สุด ก็ต้องทิ้งใบ ใบไม้ก็จะตกอยู่ตามพื้น พวกลูกไม้ต่าง ๆ ที่นกมาถ่ายไว้ก็ไม่สามารถที่จะเติบโตขึ้นได้ แต่ถ้าเกิดไฟป่าก็จะช่วยเปิดทางให้เลย ถ้ามีฝนตกตามลงมาด้วย พวกลูกไม้ที่อยู่ใต้กองใบไม้ก็จะโตขึ้นมาได้ กลายเป็นห่วงโซ่อาหาร แต่การเกิดไฟป่ามันก็มีสิ่งที่ไม่ดีอยู่เยอะ สัตว์ต้องตาย นกที่ทำรังอยู่ในนั้น เต่า สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในดิน จริง ๆ แล้วโอกาสเกิดไฟป่ามีน้อยมาก เกิดจากฟ้าผ่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักเกิดจากฝีมือของคน จุดเสร็จแล้วถาง ทำไร่ หาเงินให้ได้เยอะ ๆ

ทั้งที่จริง ๆ แล้วการที่เรายิ่งหาอะไรสักอย่าง ก็ยิ่งไม่เจอสักที มันจะห่างออกไป ตอนนี้ปรัชญาชีวิตคือ เดี๋ยวทุกอย่างก็ผ่านไป อย่างการถ่ายภาพเมื่อก่อนเราตื่นเต้นอยากมีหนังสือถ่ายภาพของตัวเอง ถ้าเรามีเราจะมีความสุขมาก แต่พอมองกลับไปก็จะรู้สึกว่าทำไมเราทำได้แค่นี้ เมื่อถึงแล้วมันก็ผ่านไป ทุกอย่างต้องผ่านไป เดี๋ยวมันก็หมด พอหมดแล้วเราจะตั้งอะไรไว้อีกล่ะ

เก็บ(รายะละเอียด)ก่อนกด(ชัตเตอร์)…
ก่อนถ่ายรูปแต่ละครั้งก็จะต้องคิดไปก่อน ว่าจะถ่ายรูปอะไร อย่างไร เราต้องการ
อะไร แม้กระทั่งภาพ ๆ เดียว ที่จะต้องไปถึงสุดล้าฟ้าเขียวในแผ่นดินสยาม ไม่ว่าไงก็ช่างก็ต้องไปให้ได้ คนเราอยากรู้ในเรื่องที่ยังไม่รู้ ไม่อยากเห็นอะไรที่รู้แล้ว เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องอยากเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น สิ่งที่เราพูดถึงกันอยู่บ่อย ๆ แล้ว พอเอามาให้ เขาก็เปิดผ่านเลยไป
ตอนเรียนพี่เกือบจะได้บ๊วยในห้องเรียน ในห้องมี 32 คน คนที่เก่ง ๆ จบออกมาก็ไม่เห็นจะเป็นช่างภาพเลย ที่เกเร ๆ นั่งอยู่ท้ายห้องนี้แหละ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นช่างภาพ ที่จริงจังให้กับสถาบันด้วย เราเติบโตมาจากที่นี่
หน้าที่ของบรรณาธิการภาพ...
ก่อนอื่นต้องดูแลภาพตัวเองให้ดีที่สุด ก่อนที่จะไปดูแลภาพของคนอื่น คำว่า บรรณาธิการภาพ ก็คือ ช่วยตัดสินใจเด็ดขาดว่าภาพไหนควรใช้ ไม่ควรใช้ แนวทางในการปฏิบัติที่เราทำให้มันตรงกับคอนเซปต์ของนิตยสาร เช่น ดูว่าฝรั่งเขาต้องการแบบไหน เราก็ต้องทำผลงานให้มันทัดเทียมงานใน NATIONAL GEOGRAPHIC ภาพสามารถบอกได้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่
มาตรฐานของช่างภาพที่ดีของคุณคือ...
ผมตั้งไว้ดีที่สุดของโลกนี้ ของช่างภาพระดับโลก พูดถึงความเป็นสากล ความเป็น
หนึ่งเดียวที่หลุดออกมาจากการตั้งขึ้น ไม่ใช่การคิดไปเอง งานของผมถูกตรวจสอบจากทางเอมริกา แต่ก็มีงานที่เราอยากจะเป็นตัวเราเองเหมือนกัน แต่ก็ต้องหมายความว่า มาตรฐานต้องสูงด้วย
ปัจจุบันใช้กล้องฟิล์มหรือดิจิตอล...
ฟิล์มด้วย ดิจิตอลด้วย ก็ต้องยอมรับว่าฟิล์มคือสิ่งที่ยังดีที่สุด ไม่ใช่ว่าเราไปใช้กล้องดิจิตอล แล้วเอาจิตวิญญาณของเราไปรีทัชภาพ เมื่อเราใช้กล้องดิจิตอลเราก็ยังต้องรอแสง รออะไรที่ดีที่สุดอยู่ แล้วค่อยถ่ายภาพ การใช้กล้องดิจิตอลในมุมมองของผม ก็คือ เรื่องการประหยัดเท่านั้นเอง ไม่ใช่ การสร้างภาพ การสร้างภาพจริง ๆ ก็คือ การตกแต่งภาพนั่นแหละ ลักษณะการทำงานของผมยังเหมือนเดิม เทคโนโลยีช่วยทำให้เราสามารถเห็นภาพที่ถ่ายแล้วได้เลย เอามาดู ๆ เออ... ต้องถ่ายให้ดีกว่านี้นะ แต่ถ้าเป็นฟิล์มเราจะมองไม่เห็นเลย ต้องรอล้างรูปก่อน
กี่กด/1 การทำงาน…
ถ้าร่างกายดี ๆ ก็เล่นไม่เลิก สมมุติว่าไปถ่ายเรื่องขาเทียมก็จะติดต่อไปที่หน่วยทหารแถว ๆ จ.อุบลราชธานี เพื่อไปถ่ายช็อตเดียว นำมาประกอบเรื่อง เขาก็ระเบิดให้ดูทีเดียว ใครเพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ก็ถ่ายไปได้แค่สองใบรอกดตรงช่วงที่ไฟระเบิดขึ้นมาในระดับที่เราต้องการ แต่ถ้าเกิดเราจะถ่ายรูปพระที่เดินออกมาจากม่านหมอก เราก็ค่อย ๆ ถ่ายรูปในขณะที่กำลังเดินมาเรื่อย ๆ ใกล้มาเรื่อย ๆ ก็จะถ่ายได้หลายรูป เราก็ต้องใช้ความเป็นมืออาชีพกดให้เร็วที่สุด เร็ว ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ได้ดีด้วย ถ้าจะต้องลงน้ำ เราก็ลุยไปเลยอย่าคิดมาก ลงน้ำไปเพื่อให้ได้รูปที่ดีที่สุด
ช่างภาพสุขภาพต้องสมบูรณ์...
เป็นช่างภาพร่างกายต้องแข็งแรง ร่างกายไม่แข็งแรงทำงานไม่ได้หรอก ต้องแลตัวเองดี ๆ จริงๆ แล้วก็ทนได้ทุกอย่าง แต่มาแพ้อากาศหนาวๆ ตอนนั้นต้องไปถ่ายภาพที่บ้านกะเหรี่ยงพระฤาษี หมู่บ้านเลตองคุ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ติดกับประเทศพม่า ไม่สบายตั้งแต่ก่อนที่จะ ไปแล้ว พอถึงแถว ๆ จ.กำแพงเพชร ก็จอดรถข้างทางเข้าโรงพยาบาล ให้หมอฉีดยา 1 เข็ม การฉีดยาก็ช่วยทำให้เราทำงานได้แค่ 2 -3 วันเท่านั้น แล้วก็ต้องเดินข้ามภูเขาไป 15 ลูก ระยะทาง 20 กิโลเมตร พอเข้าไป คืนแรกอากาศหนาวมาก อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส นอนกันไม่ได้เลย ต้องลุกขึ้นมา มันหนาวเหน็บในกระดูก
ชีวิตกับการรอ...
บางอย่างมันต้องรอนะ ที่ไม่ต้องรอก็คือการเข้าไปทำ แต่การเข้าไปทำไม่ใช่ว่ามันจะเสร็จ คุณต้องรอสิ่งที่ดีที่สุด

ทุก ๆ อย่างรอบตัวเราสามารถนำกรอบสี่เหลี่ยมจัดวาง กดและอัดมาเป็นภาพได้หมด ไม่ว่าจะภาพเป็ดไก่ คนจุดประทัด ก้อนเมฆ... เพียงแค่คุณจะมองเห็นกันหรือเปล่า